คลังเตรียมรื้อภาษีสรรพสามิต หนุนรถยนต์ “ปลั๊กอิน-ไฮบริด”

03 ก.พ. 2568 | 06:21 น.

คลังเตรียมรื้อภาษีสรรพสามิตรถยนต์ หนุน “ปลั๊กอิน-ไฮบริด” ปรับเงื่อนไขระยะทางวิ่งต่อการชาร์จ ช่วงเปลี่ยนผ่านรถสันดาปสู่รถไฟฟ้า

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างยกร่างปรับปรุงเงื่อนไขทางภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ประเภท PHEV (รถยนต์ปลั๊กอิน หรือไฮบริด) เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าว โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะพิจารณาปรับปรุง คือ เรื่องของระยะทางวิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หรือ Electric Range ( ER) 

สำหรับปัจจุบันกำหนด ER ไว้ที่ 80 กิโลเมตร หรือสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และขนาดของถังน้ำมันที่ปัจจุบันกำหนดขนาดถังน้ำมันไว้ที่ไม่เกิน 45 ลิตร คิดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 5 % 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ ER ทำได้น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และขนาดของถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร จะถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตรา 10 %

“การปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว จะเอื้อให้ค่ายรถยนต์ที่ผลิต PHEV ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น กรณีขนาดของถังน้ำมัน ซึ่งบาง PHEV มีขนาดของถังน้ำมันขนาดที่ใหญ่กว่า 45 ลิตร เนื่องจากตัวรถยนต์มีขนาดใหญ่ ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตรา 10 %”

ทั้งนี้ การปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจาก PHEV เป็นประเภทรถยนต์ที่สามารถใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าได้ ซึ่งจะช่วยในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์สันดาป ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นในอนาคต ในขณะที่ปัจจุบัน eco system ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทย ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ  โดยเฉพาะจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว บอร์ด EV ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติแผนการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ HEV โดยเป็นการลดอัตราภาษีลงมาจากปัจจุบัน คือ มาตรการสนับสนุนรถยนต์ HEV  กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (2569 - 2575)  

โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องมีการปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km โดยกรณีที่ การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6

และกรณีที่ การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9 โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2570

ซึ่งเป็นการปรับลดภาษี HEV จากเดิมที่กำหนดให้ค่อยๆ ขึ้นภาษีในทุกสองปี เช่น กรณีรถ HEV ที่ปล่อยคาร์บอนไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร จะกำหนดภาษีสรรพสามิต ไเ้แก่

  • ในปี 2569 ที่ 6 %
  • ปี 2571 ที่ 8%  
  • ปี 2573 ที่ 10 % เป็นต้น