นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายธัน พหาทุร โอลิ เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย ถึงการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ผ่านความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค (BIMSTEC) โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีบิมสเทค (BIMSTEC FTA) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ที่มีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 1,700 ล้านคน โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในช่วงเดือน เม.ย. 2568 นี้
ทั้งนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทยและเนปาลที่มีมากว่า 65 ปี ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการขยายความร่วมมือด้านการค้าและบริการให้กว้างขวางขึ้นในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้ง การแปรรูปสินค้าเกษตร การบริการทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว โดยยังได้ใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้เนปาลใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของไทยในการเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเนปาลสามารถเป็นประตู่สู่ตลาดจีน อินเดีย และเอเชียใต้ได้
"มีความยินดีอย่างยิ่งที่การลงทุนขนาดใหญ่ของไทยในเนปาล ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเนปาลและสร้างงานให้แก่ประชาชน อาทิ การลงทุนของบริษัท เรดบูล และดุสิตกรุ๊ป และเห็นว่าจากการที่อุตสาหกรรม IT และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ของเนปาล มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่นักลงทุนไทยควรพิจารณา"
ทั้งนี้เชื่อว่าหากเนปาลสามารถส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและลดอุปสรรคทางการค้าเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทยและกระตุ้นให้ธุรกิจไทยขยายตลาดในเนปาล
อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่าย ยังได้หารือถึงการเชื่อมโยงของประชาชน โดยเฉพาะการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งในแง่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงศาสนา โดยนักท่องเที่ยวไทยอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรกที่เดินทางไปเยือนเนปาล
ขณะที่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวเนปาล โดยติดอันดับ 3 ของสถานที่ที่ชาวเนปาลเลือกเดินทางมาเยือน สิ่งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยยังหารือถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงของประชาชนด้วย
สำหรับเนปาลเป็นตลาดที่กำลังเติบโต โดยมีจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ การขาดแรงงานภาคการผลิต ส่งผลให้ภาคอุปสงค์สูงกว่าอุปทาน และมีแนวโน้มว่าการนำเข้าสินค้าเกษตร (ข้าว ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผลไม้ ผัก และน้ำมันพืช) สินค้าอุปโภคบริโภคจะมากขึ้น โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 37.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ