การผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ “FTA ไทย – เอฟตา” นับเป็น FTA ฉบับที่ 16 ของไทย ที่สามารถปิดดีลได้สำเร็จ และเตรียมลงนามในความตกลงร่วมกัน วันที่ 23 มกราคม 2568 ในห้วงการประชุม World Economic Forum หรือ WEF ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวลาประมาณ 9.00 น.
สำหรับการผลักดัน “FTA ไทย – เอฟตา” จนประสบความสำเร็จเป็น FTA ฉบับที่ 16 ของไทยนั้น ต้องย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 กระทรวงพาณิชย์เจรจาจนมีความคืบหน้าต่อเนื่อง จนมาสำเร็จเมื่อปลายปี 2567 และได้เสนอร่างความตกลงการค้าเสรี ฉบับนี้ เข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 เห็นชอบเป็น “วาระลับ” ไปเป็นที่เรียบร้อย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การเสนอร่างความตกลง “FTA ไทย – เอฟตา” เข้ามาเป็นวาระลับครั้งนี้ มีเหตุผลสำคัญคือการนำเข้าไปลงนามกับประเทศสมาชิกเอฟตา ให้ทันในช่วงการประชุม WEF เมืองดาวอส วันที่ 23 มกราคม นี้ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดเผยออกมาเป็นทางการได้ จึงจำเป็นต้องเสนอเข้ามาเป็นวาระลับให้ครม.เห็นชอบก่อน
ทั้งนี้ในการนำเอกสารความตกลงการค้าเสรีไปลงนามครั้งนี้เสร็จสิ้น ความตกลงฉบับนี้จะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจนกว่าประเทศนั้น ๆ จะนำร่างเอกสารเข้าสู่กระบวนการทางด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ และดำเนินการโดยการภาคยานุวัติ (Accession) หรือการให้ความยินยอมของรัฐเพื่อเข้าผูกพันตามสนธิสัญญาให้แล้วเสร็จก่อน
สำหรับประเทศไทยเองนั้น หลังจากที่ประชุมครม.อนุมัติแล้วจะนำร่างที่ผ่านการลงนามฉบับนี้เสนอเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเห็นชอบ จากนั้นจึงสามารถเปิดเผยรายละเอียดของความตกลงได้ทั้งหมด
“หากผ่านการเห็นชอบจากกระบวนการรัฐสภาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน โดยจะเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง และเชื่อว่า การจัดทำ FTA ไทย – เอฟตา ครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในใบเบิกทางสู่การจัดทำ FTA ไทย – อียู ในอนาคตข้างหน้าด้วย” แหล่งข่าวระบุ
ความสำคัญของการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย – เอฟตา ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ สามารถสรุปการเจรจาได้ 15 เรื่อง ถือเป็น FTA สมัยใหม่ที่ข้อตกลงมีความครอบคลุมอย่างรอบด้านนอกเหนือไปจากประเด็นการค้าและการลงทุน โดยเป็นข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูง สอดคล้องกับการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) ไทย และ EFTA มีมูลค่าการค้ารวม 11,467.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.05% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 24.94%
โดยไทยส่งออกไปยัง EFTA 4,121.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และนำเข้าจาก EFTA 7,345.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง
ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า การเจรจาจัดทำ FTA จะช่วยเพิ่มพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ ลดอุปสรรคทางการค้า สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ยกระดับมาตรฐาน
นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออก เพิ่มบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก และสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค รวมถึงกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตามในปี 2568 รัฐบาลได้เร่งรัดการเจรจา FTA อีกหลายฉบับ เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอาเซียน – แคนาดา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และการส่งออกของไทย
รวมถึงให้เร่งจัดทำความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเจรจา FTA ในอนาคตกับประเทศคู่ค้าศักยภาพ ได้แก่ ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศ คือ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน
รวมทั้งยกระดับ FTA ที่ไทยมีอยู่แล้ว ทั้ง ความตกลง FTA ไทย - เปรู ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-อินเดีย FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ให้ความตกลงมีความทันสมัย สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกทางการค้าของผู้ประกอบการด้วย