บิมสเทคกับโอกาสของประเทศไทย

13 มิ.ย. 2567 | 13:34 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 13:34 น.

บิมสเทคกับโอกาสของประเทศไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,000 หน้า 5 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน 2567

ในปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือที่หลากหลายกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในกรอบความร่วมมือที่น่าสนใจคือ บิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีชื่อเต็มว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับบิมสเทคใน 3 ประเด็นคือ บิมสเทคและความสำคัญทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคตของ บิมสเทคและโอกาสของประเทศไทย

• บิมสเทคและความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ

บิมสเทคได้รับการก่อตั้งจากปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศคือ 5 ประเทศจากเอเชียใต้ ประกอบด้วยบังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล และศรีลังกา และ 2 ประเทศจาก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เมียนมา และไทย โดยมีอินเดียเป็นประเทศหลักในด้านเอเชียใต้ และไทยเป็นหลักในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

แรงขับเคลื่อนของความร่วมมือดังกล่าวมาจากนโยบายมุ่งตะวันออก (Act East Policy) ของอินเดีย และนโยบายมุ่งตะวันตก (Act West Policy) ของไทย การเป็นสมาชิกบิมสเทคของไทยเป็นการเชื่อมโยงเพื่อเปิดประตูการค้าและการลงทุนสู่เอเชียใต้ และเป็นการกระจายความเชื่อมโยงทางด้านการค้าและการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากกลุ่มอาเซียนและประเทศคู่ค้าหลักของไทย

ความริเริ่มดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เร่งความก้าวหน้าทางสังคม และส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีขอบเขตความร่วมมือใน 7 สาขา คือ การค้า การลงทุน และ การพัฒนา รับผิดชอบโดยบังคลาเทศ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกมีภูฏานเป็นผู้รับผิดชอบ ความมั่นคงโดยอินเดีย การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รับผิดชอบโดยเมียนมา ความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชนโดยเนปาล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยศรีลังกา และความเชื่อมโยงโดยประเทศไทย 

 

 

บิมสเทคกับโอกาสของประเทศไทย

ภูมิภาคบิมสเทคมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ โดยมีประชากรรวมกันมากกว่า 1.8 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 22 ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น (GDP) รวมอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการค้าระหว่างประเทศรวมเท่ากับ 1.95 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บิมสเทคเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามอง ทั้งในส่วนของโอกาสในการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนา

• ความก้าวหน้าในปัจจุบัน

ในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา บิมสเทค มีความคืบหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศสมาชิกต้องดูแลกิจการภายในของประเทศตนเอง

อย่างไรก็ตาม บิมสเทคมีความก้าวหน้าใน 2 สาขา คือ สาขาความมั่นคงที่สามารถบรรลุอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 และสาขาความเชื่อมโยง ที่สามารถจัดทำแผนแม่บทด้านการเชื่อมโยงเมื่อปี 2563

ความก้าวหน้าที่สำคัญของบิมสเทค เกิดขึ้นในที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ไทยได้มอบรับตำแหน่งประธานบิมสเทค โดยในการประชุมดังกล่าวมีการผ่านเอกสารสำคัญหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ซึ่งได้เปลี่ยนการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีฐานะทางกฎหมายเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการต่างๆ มีหลักเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกันอย่างแน่นหนา มีโครงสร้างเชิงสถาบันและแนวปฏิบัติในการดำเนินการ

รวมถึงกระบวนการในการตัดสินใจและแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้ง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 กฎบัตรบิมสเทคเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับกลุ่มภูมิภาคบิมสเทค 7 ประเทศ 

• ทิศทางในอนาคตของบิมสเทค และโอกาสของประเทศไทย

แม้ว่าบิมสเทคจะมีความก้าวหน้าที่มากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความจำเป็นต้องมีการผลักดันเพิ่มเติมเพื่อให้ภูมิภาคมีความเชื่อมโยงมากขึ้นและยกระดับกรอบความร่วมมือต่อไป โดยประเด็นที่บิมสเทคควรดำเนินการเร่งด่วนเป็นดังต่อไปนี้

• การค้าในภูมิภาคและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การค้าภายในภูมิภาคในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเต็มที่ ควรมี BIMSTEC Free Trade Agreement (FTA) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ

อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการค้าในภูมิภาค คือ การค้าดิจิทัล ซึ่งประเทศ ไทยและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในด้านเอเชียใต้ต่างมีศักยภาพในด้านดังกล่าว ช่องทางออนไลน์สามารถช่วยให้การค้าสามารถเข้าถึงตลาดได้สะดวกและกว้างขวางมากขึ้น 

• การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งในส่วนของถนนทางรถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน

• การอำนวยความสะดวกทาง การค้า โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค 

• การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเพิ่มการเชื่อมต่อด้านพลังงาน

ทั้ง 4 ด้านที่ควรดำเนินการเร่งด่วนนั้น เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยทั้งในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือ โดยผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายตลาดไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีส่วนร่วมในการแชร์ประสบการณ์ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดและความเชื่อมโยงทางด้านพลังงาน

จากความสำคัญของบิมสเทคและโอกาสที่มีต่อประเทศไทย จึงควรมีการพูดคุยระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทคเพื่อร่วมกันอภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจและแนวทงการพัฒนาในอนาคต และควรมีการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนต่างๆ

ดังนั้น ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ SANEM, BIMSTEC Secretariat, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD), ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Asia Foundation ในการจัดงานการประชุมระดับนานาชาติเรื่อง The New World Order and BIMSTEC: Curtain Raiser to the Sixth BIMSTEC Summit ในระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ Facebook: ASEAN Studies Center, Chulalongkorn University