“ทส.- กทม.” ผนึกกำลังเร่งขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม

20 ก.ย. 2565 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 15:23 น.

 “ทส.- กทม.” ร่วมกัน เร่งขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา "วราวุธ" ออกคำสั่ง-ติดตามการดำเนินงานร่วมทส.กับ กทม. เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือความร่วมมือด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทส.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.

 

 

ทั้งสองหน่วยงานยินดีให้การสนับสนุนนโยบายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันพร้อมจัดตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหา และนายวราวุธ ได้ออกคำสั่งและติดตามการดำเนินงานร่วมของ ทส.กับ กทม. มาโดยตลอด เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

 “ทส.- กทม.” ผนึกกำลังเร่งขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม

นายจตุพรระบุว่า ล่าสุด ได้มอบหมายนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธาน การประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กทม.โดยมีหน่วยงานใน ทส.ประกอบด้วย คพ. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

 

 

กรมป่าไม้ (ปม.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ประชุมหารือร่วมกับ นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กทม. และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. มีแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

จตุพร บุรุษพัฒน์

 “ทส.- กทม.” ผนึกกำลังเร่งขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม

 

 

1. การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ให้ คพ. และ กทม. ร่วมกันลงพื้นที่ และเตรียมวางแผนการตรวจวัดควันดำจากยานพาหนะ โดยให้ กทม. ส่งข้อมูลจำนวนอู่รถขนาดใหญ่/รถบรรทุก เพื่อติดตามตรวจวัดควันดำ ข้อมูลพื้นที่เกษตรที่มีการเผา

 

 

เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในการห้ามเผา รวมทั้งหาช่องทางที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและแจ้งข้อมูล มีมาตรการเสริมในช่วงภาวะวิกฤตด้านฝุ่นละออง เช่น Work From Home

 

2. การแก้ไขปัญหาน้ำเสียและปัญหาการทิ้งขยะในคลองหัวลำโพง คพ. ร่วมกับ สส. และ กทม. ลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อวางแผนการดำเนินงาน รณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะและน้ำเสียลงคลอง สนับสนุนเรื่องการดูดสิ่งปฏิกูลให้กับบ้านเรือน ให้คำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียในตลาดคลองเตย เพื่อบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน และขอความร่วมมือทหารในการขุดลอกคลอง

 

3. การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน คพ. ร่วมกับ สส. และ กทม. ร่วมกันลงพื้นที่และหาพื้นที่นำร่องเพื่อทดลองดำเนินกิจกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ครัวเรือน การเก็บขนแบบคัดแยก การนำขยะไปใช้ประโยชน์ การลดขยะส่วนเกินที่จะเป็นขยะอาหาร การรณรงค์คัดแยกขยะ การขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนปลอดขยะ โรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียน Eco School การสนับสนุนเครือข่าย ทสม. ในการร่วมกิจกรรมของชุมชน

 

 

4. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ ปม. ร่วมกับ กทม. ในการสนับสนุนการเพาะพันธุ์กล้าไม้ การอบรมเพื่อเป็นรุกขกรทุกเขต

 

 

5. การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบางขุนเทียน ความยาว 7 กิโลเมตร ให้ ทช. ร่วมกับ กทม. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปลูกป่าชายเลน โดยลงพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าชายเลนและสนับสนุนการปักไม้ไผ่เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มเลนงอกใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน

 

 

6. การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ สผ. ร่วมกับ อบก. และ กทม. สนับสนุนองค์ความรู้และสนับสนุนการดำเนินงานที่จะให้ กทม. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต และสนับสนุนหน่วยงานภายใน กทม. ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

 

และ 7. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ สผ. ร่วมกับ กทม. สนับสนุนองค์ความรู้บุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแจ้งผลการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ สผ. พิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ท้องถิ่น

 

 

ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานและนัดหมายการลงพื้นที่เพื่อวางแผนและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กทม. ต่อไป นายจตุพร กล่าว

 “ทส.- กทม.” ผนึกกำลังเร่งขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม