“วราวุธ” ยกพะยูน มาเรียม-ยามีล ปลุกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ Net Zero 

15 ก.ย. 2565 | 18:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2565 | 01:46 น.

“วราวุธ” ยกพะยูน มาเรียม-ยามีล ปลุกพลังนักศึกษา-เยาวชน 59 มหาวิทยาลัย สานเจตนารมณ์ ลดเลิกใช้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เพื่อรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ Net Zero 

 

วันที่ 14 กันยายน 2565 ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์การลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ภายในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผ่านพลังเยาวชน Green Youth ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero

 

 

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบความร่วมมือ เช่น การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจการมีส่วนร่วม, การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์

 

ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย, การรณรงค์ใช้บรรจุภัณฑ์ส่วนตัวเพื่อลดปริมาณขยะ และ การจัดการขยะต้นทาง การคัดแยกขยะและนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

“วราวุธ” ยกพะยูน มาเรียม-ยามีล ปลุกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ Net Zero 

 

นายวราวุธ ได้เล่าถึงการจัดการขยะของชุมชนบ้านหัวถนน จ.ขอนแก่น ที่มีการบริหารจัดการ จนไม่มีขยะในชุมชน และมีกระบวนการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ ได้เป็นรูปธรรม 100% ว่าเป็นต้นแบบที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังมี นิสิต นักศึกษา ทั้ง 59 แห่ง ที่วันนี้มาเป็นกำลังในการทำงาน เพราะในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ทุกคนได้ตอบรับกับนโยบายการลดเลิกใช้ถุงพลาสติกเป็นอย่างดี 

 

 

“ตอนปลายปี 2562 น้อง ๆ ในที่นี้คงจำ น้องมาเรียม และยามีล กันได้ พะยูน อายุไม่กี่เดือน เราเป็นห่วงกันแทบแย่ น้อง ๆ นักศึกษา เยาวชนทั่วประเทศให้กำลังใจ  แต่สุดท้ายน้องมาเรียมก็ไปไม่รอด เสียชีวิตด้วยถุงพลาสติกที่อยู่ในระบบลำไส้ ถึง 8 ชิ้น จึงเป็นที่มาของกระแสสังคมไทยที่ให้เลิกใช้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ ก็รับมาต่อยอด และเกิดการรณรงค์ลด เลิก ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา”

“วราวุธ” ยกพะยูน มาเรียม-ยามีล ปลุกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ Net Zero 

นายวราวุธ ยังขอบคุณนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ตอบรับเรื่องนี้และช่วยกันรณรงค์การใช้ถุงผ้า แต่ก็ยังเกิดดราม่าและเสียงต่อว่ากระทรวงทรัพยากรฯ ว่าไปช่วยนายทุนที่เอาถุงมาขายแทนการแจกฟรี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะสิ่งที่ต้องการทำจริง ๆ คือการปลูกฝังค่านิยม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเท่านั้น

 

 

นายวราวุธ ยังเล่าถึงการลงพื้นที่ส่งมอบเครื่องสูบน้ำ ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) ว่าเห็นขยะทั้งตู้เย็น ทีวี โซฟา ฟูก ที่นอนกับตาตัวเอง แต่ที่สำคัญคือขยะพลาสติก และขวดน้ำพลาสติกที่เก็บขึ้นมาจำนวนมา สิ่งเหล่านี้ทำให้กีดขวางทางระบายน้ำ ซึ่งจากที่คุยกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทราบว่าขยะพลาสติกที่เก็บขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ หรือลำคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร มีปริมาณมากขึ้ง 10 ตันต่อวัน

 

 

“ปัญหาของถุงพลาสติก บางคนตั้งคำถามว่าถ้างดใช้แล้วจะช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร มันกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้นการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดคาร์บอน ก๊าซมีเทน และก๊าซเรือนกระจกได้”

 

 

นอกจากการลงนามประกาศเจตนารมณ์ นายวราวุธ ได้มอบรางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย หรือ Green Youth ระดับประเทศประจำปี 2564 จำนวน 59 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

“วราวุธ” ยกพะยูน มาเรียม-ยามีล ปลุกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ Net Zero