"ศักดิ์สยาม" ออกตัว ตัดสินผู้ชนะ "ประมูลสายสีส้ม" ปัดราคาไม่ใช่ประเด็น

14 ก.ย. 2565 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2565 | 19:08 น.

"ศักดิ์สยาม" เคลียร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันไม่ได้ใช้ราคาตัดสินผู้ชนะยื่นข้อเสนอ เผยปมคุณสมบัติ ITD Group เป็นอำนาจบอร์ด ม.36 กระทบประชาชนเสียโอกาสการเดินทาง หวั่นประเทศเสียประโยชน์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หนึ่งในผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ได้เปิดเผยข้อเสนอด้านราคาและพบว่ามีราคาต่ำกว่าผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการในครั้งที่ 2 นั้น เรื่องนี้กระทรวงฯ ไม่มีความเห็น เพราะการประมูลโครงการนี้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ดังนั้นเชื่อว่าการประมูลโครงการมีการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนมาอยู่แล้ว

 

 

 

"เรื่องนี้คงต้องไปดูว่าเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) กำหนดอะไรไว้บ้าง ทั้ง 4 ซองข้อเสนอ ด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค ด้านราคา และข้อเสนอพิเศษ ก็ต้องไปดูผลรวมว่าทั้ง 4 ซองมีความเหมาะสมเป็นไปได้แค่ไหนถ้าเราสนใจแต่เรื่องราคาอย่างเดียว และเกิดผลกระทบกับโครงการก็คงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นหลายโครงการที่ผู้รับเหมาเสนอราคาต่ำและทิ้งงาน ดังนั้นเรื่องราคาคงไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียว ต้องมีเรื่องอื่นๆ มีแผนการทำงานและเทคนิคที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จ"

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เน้นย้ำให้ รฟม.ดำเนินงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โครงการนี้มีความสำคัญกับประชาชน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ ดังนั้นไม่ควรล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวผมนั้นไม่มีผลประโยชน์ หรือขัดผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น

 

 

 

 ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุถึงคุณสมบัติของบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่ แต่มีคุณสมบัติของคณะกรรมการที่อาจขัดต่อข้อกำหนดในการประมูลโครงการรัฐนั้น เรื่องนี้ตนยืนยันว่ากระบวนการในโครงการนี้ เป็นการประมูลโดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62 (PPP) และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งกระทรวงฯ จะมีหน้าที่พิจารณาความถูกต้องหลังจากที่คณะกรรมการ ม.36 สรุปผลการประมูลมาแล้ว

"เรามีหน้าที่พิจารณาผลการประมูลโครงการฯ ให้เป็นไปตามผลการศึกษาและหลักกฎหมาย เราไม่สามารถห้ามไม่ให้คนสงสัยหรือตั้งประเด็นคำถามได้ แต่มีหน้าที่อธิบายสิ่งเหล่านี้ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์กับคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่กลับติดปัญหาที่ไม่ได้มีประเด็นอะไร ทำให้เสียเวลาหลายปี ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเดินทาง อยากให้ดำเนินการถึงประโยชน์ส่วนรวม อย่าดำเนินการโดยอคติตามวิธีคิดของคนที่ไม่เข้าใจ เรามีระเบียบกฎหมาย ที่ต้องดำเนินการตามนั้น"

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบัน รฟม.ไม่ได้มีการรายงานถึงปัญหาติดขัดในเรื่องขอลการประกวดราคา แต่ทุกครั้งที่มีการหารือร่วมกับผู้บริหาร ทางกระทรวงฯ จะมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน รวมถึง รฟม.จัดทำแอคชั่นแพลนเพื่อดำเนินการกำกับแปลไปสู่นโยบายการปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยขณะนี้การประมูลถือว่าอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการ ม. 36 พิจารณา ซึ่งในคณะกรรมการฯ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายท่าน เช่น องค์กรต่อต้านทุจริต, สำนักงบประมาณ, สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

 

 

 

"ที่ผ่านมาเราเคยแนะนำ รฟม. ให้ดำเนินการยึดหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งทุกหน่วยงานจะดำเนินการอย่างไรต้องทำความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ต้องคิดให้ดีและพยายามแก้ไข เพราะประเทศมีจุดได้เปรียบเรื่องโลเคชั่น อย่าทิ้งในสิ่งเหล่านี้"