แจงแล้ว “รฟม.” เคลียร์ปม ITD ขัดคุณสมบัติ หลังผ่านเกณฑ์ “ประมูลสายสีส้ม”

09 ก.ย. 2565 | 20:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2565 | 03:39 น.
1.0 k

“รฟม.” แจง ITD Group ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอคุณสมบัติ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังถูกเพ่งเล็ง 1 ในบริษัทรับโทษจำคุก ขัดพ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62 หากพบข้อมูลเท็จในภายหลัง ส่อปัดตก

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กรณีที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พิจารณาให้ ITD Group ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ทั้งที่ กรรมการท่านหนึ่งของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ITD Group เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น 

 

 

แจงแล้ว “รฟม.” เคลียร์ปม ITD ขัดคุณสมบัติ หลังผ่านเกณฑ์  “ประมูลสายสีส้ม”

เบื้องต้นการดำเนินการยื่นข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระบุให้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องตรวจสอบและรับรองเอกสารข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย ได้มีการยื่นหนังสือรับรองคุณสมบัติในการเข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอมีความไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จ  รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็มีสิทธิที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอ หรือปฏิเสธที่จะทำสัญญากับเอกชนรายนั้นได้
 

ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว ได้มีการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น ได้กำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการร่วมลงทุน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว พบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ดังกล่าว ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป

แจงแล้ว “รฟม.” เคลียร์ปม ITD ขัดคุณสมบัติ หลังผ่านเกณฑ์  “ประมูลสายสีส้ม”

 

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป 
 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)