BEM-ITD ลุ้นต่อ "รฟม." เปิดซองข้อเสนอผลตอบแทน ประมูลสายสีส้ม

08 ก.ย. 2565 | 15:36 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2565 | 22:44 น.

BEM-ITD ได้ไปต่อ “รฟม.” ลุยเปิดซองข้อเสนอด้านการลงทุน-ผลตอบแทน ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท เผยตัวเลขผลตอบแทนเอกชน 2 ราย ใครให้ประโยชน์มากสุด

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังจากรฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2565 โดยมีเอกชนผู้สนใจเข้าซื้อเอกสาร RFP ทั้งสิ้น 14 ราย และต่อมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 และเอกสาร RFP รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอแล้ว 

BEM-ITD ลุ้นต่อ \"รฟม.\" เปิดซองข้อเสนอผลตอบแทน ประมูลสายสีส้ม

 

ด้านความก้าวหน้าการดำเนินงานคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นกำหนดการยื่นข้อเสนอ ปรากฎว่ามีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) (BEM) และ 2) ITD Group
 

ที่ผ่านมารฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 1 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1

 

 

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า  รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกฯ และเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยได้ตรวจสอบพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2

BEM-ITD ลุ้นต่อ \"รฟม.\" เปิดซองข้อเสนอผลตอบแทน ประมูลสายสีส้ม


นอกจากนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งมีผลการยื่นข้อเสนอในเบื้องต้น ดังนี้


- บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท


- ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท
 

“ส่วนผลประโยชน์สุทธิ คือ เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. หากตัวเลขติดลบน้อย จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐมากกว่า เพราะขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยกว่า หลังจากนี้รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป”

 

BEM-ITD ลุ้นต่อ \"รฟม.\" เปิดซองข้อเสนอผลตอบแทน ประมูลสายสีส้ม

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)