“บีทีเอส” กางตัวเลขข้อเสนอ ประมูลสายสีส้ม รอบแรก ใครให้ประโยชน์รัฐมากกว่า

12 ก.ย. 2565 | 18:22 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2565 | 01:30 น.
998

“บีทีเอส” เปิดข้อเสนอผลตอบแทน “ประมูลสายสีส้ม” รอบแรก แบบชัดๆ หลังทำหนังสือถึงรฟม.ขอเอกสารคืนยกลัง เชื่อประมูลรอบใหม่กีดกันการแข่งขัน เหตุตั้งเงื่อนไข-ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ส่อผิดพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62

ตัวแทนจากบริษัทระบบขนส่งมวงลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ทางบริษัทได้เดินทางไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอคืนเอกสารซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุน ภายหลังที่บริษัทยื่นข้อเสนอในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบแรก โดยที่ผ่านมารฟม.ได้มีการเปิดประมูลโครงการฯรอบใหม่ และได้เปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุนแล้วนั้น เพื่อที่บริษัทจะนำซองข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณาถึงผลตอบแทนระหว่างการประมูลรอบแรกและรอบใหม่มีความแตกต่างกันอย่างไร

 

 


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมาบริษัทได้ประสาน กับรฟม.เพื่อขอรับเอกสารดังกล่าวคืน ซึ่งขณะนี้บริษัทได้รับคืนเพียงเอกสารการประมูลเท่านั้น ส่วนเอกสารซองข้อเสนอที่ 3 ด้านผลตอบแทนและการลงทุน จำนวน 4 กล่องทางรฟม.ได้ส่งกลับคืนให้บริษัทไปยังอาคารสำนักงานแล้ว ขณะที่เอกสารข้อเสนอที่ 2 ด้านเทคนิค ทางบริษัทจะรอรับเอกสารคืนภายในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เพราะเอกสารค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ

 

 


"สาเหตุที่บริษัทมารับเอกสารซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุนในครั้งนี้ เพราะต้องการให้ทราบว่าเอกสารไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงซองข้อเสนอดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลงซองข้อเสนอฯ ซึ่งเรามั่นใจว่าซองข้อเสนอที่ได้รับคืนในรอบนี้เป็นซองข้อเสนอเดียวกันกับที่บริษัทเคยเข้าร่วมในการประมูลโครงการฯแน่นอน"

ตัวแทนจากบีทีเอสซี กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการฯในรอบนี้ได้ เนื่องจากการประมูลรอบใหม่นั้นมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติด้านงานโยธาที่กำหนดเข้มด้านงานขุดเจาะอุโมงค์ เพราะบริษัทไม่มีผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ด้านงานอุโมงค์ นอกจากนี้การปรับเกณฑ์ใหม่นั้นกำหนดให้ผู้รับเหมาด้านงานโยธาต้องมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเท่านั้น ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทั้งนี้พบว่าไทยมีผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าวเพียง 2-3 ราย นอกจากนี้ในเงื่อนไขการประมูลรอบใหม่นั้นมีการระบุอีกว่ากรณีที่บริษัทต่างชาติสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการฯต้องจับมือร่วมบริษัทในไทยที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติ แต่การประมูลรอบแรกพบว่าบริษัทยังมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การประมูลโครงการฯ

 

 

 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ บีทีเอสซี  กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอผลตอบแทนและการลงทุนที่บริษัทเสนอในการประมูลครั้งแรกนั้น บริษัทได้เสนอ การขอรับเงินสนับสนุนด้านงานโยธา รวมวงเงิน 90,254 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 87,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 3,254 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 79,820 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้เมื่อโครงการเปิดให้บริการ ทางบริษัทจะแบ่งรายได้ให้กับรฟม.ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี อยู่ที่ 134,300 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 70,144 ล้านบาท เมื่อคำนวณแล้วพบว่าบริษัทเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -9,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. หากเทียบกับเอกชนผู้รับเหมาที่เข้าร่วมประมูลในปัจจุบันอีก 2 ราย ที่เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท ขณะที่เอกชนอีก 1 ราย เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท ถือมีความแตกต่างกันถึง 90,000 ล้านบาท สำหรับรฟม.ที่พิจารณาเห็นว่าเอกชนรายนั้นให้ข้อเสนอดีที่สุดแล้ว

ส่วนกรณีที่ข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุนมีความแตกต่างกับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอในการประมูลโครงการฯในรอบนี้จะส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสหรือไม่นั้น ปัจจุบันบริษัทได้รับทราบว่าเอกชนที่ยื่นเกณฑ์ข้อเสนอดีที่สุดให้กับรฟม.อยู่ที่    – 78,287.95 ล้านบาท แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดด้านใน แต่ตามหลักการแล้วการประมูลจะพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่แล้ว หากวันนั้นในการประมูลรอบแรกมีการเปิดซองข้อเสนอของบริษัทพร้อมกับเอกชนที่เข้าเสนอประมูลรายอื่นๆ จะทำให้รัฐได้ประโยชน์ในอัตราผลตอบแทนเท่านี้ โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเวลาในการเดินรถของโครงการฯ 2 ปี ซึ่งจะขอรับอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐเพียง -9,600 ล้านบาท 

 

 

 

นอกจากนี้การประมูลโครงการฯในรอบนี้พบว่ามีผู้รับเหมาเพียงไม่กี่รายเข้ายื่นประมูลในรอบนี้ ท้ายที่สุดที่สามารถยื่นประมูลได้เหลือเพียง 1 ราย คือ บริษัทที่ได้ข้อเสนอดีที่สุด ส่วนอีก 1 ราย คือ ITD น่าจะไม่ผ่านคุณสมบัติ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องกรรมการของบริษัท ทั้งนี้ตามหลักการของพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62  (PPP) มีการเปิดกว้าง โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุชัดเจนว่า จะต้องเป็นการประมูล International Bidding ซึ่งควรเป็นการเปิดกว้างในการประมูลให้กับบริษัทต่างชาติร่วมลงทุนได้  แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวระบุว่า ผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์ด้านงานโยธาเฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งชัดเจนแล้วที่มีผู้ยื่นได้เพียงรายเดียวเท่านั้น