สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาส ของจีน อาเซียน และไทย (จบ)

31 ก.ค. 2565 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2565 | 20:04 น.
1.4 k

สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาส ของจีน อาเซียน และไทย (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ฉบับ 3804

ผ่านมาหลายตอนไล่ตั้งแต่การปูพื้นให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงสภาพปัจจัยแวดล้อมของรัสเซียและยูเครน รากเหง้าของวิกฤติยูเครน และผลกระทบต่อโลก จีน และอื่นๆ มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงรอติดตามอยู่ว่า แล้วผลกระทบจากวิกฤติยูเครนที่มีต่ออาเซียน และไทยจะเป็นเช่นไร วันนี้เราจะไปติดตามกันครับ ...  


อันที่จริง รัสเซียและยูเครนค้าขายและลงทุนกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนน้อยมาก เฉลี่ยระดับ 2-3% ของเศรษฐกิจในแต่ละมิติ อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกลงไปดูในบางรายการสินค้าและประเทศสมาชิก ก็สะท้อนถึง “ความสำคัญ” อยู่มากเช่นกัน  

จากสถิติในช่วงปีที่ผ่านมา อาเซียนนำเข้าธัญพืชจากรัสเซียและยูเครนรวมกว่า 13% ของการนำเข้าโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น ข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง และอาหารอื่น ขณะที่ข้าวโพดก็เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์

 

ที่สำคัญ ว่าง่ายๆ การขาดหายไปของธัญพืชจากสองประเทศดังกล่าว จึงอาจก่อให้เกิดวิกฤติอาหารคนและอาหารสัตว์ได้


 

ขณะเดียวกัน อาเซียนก็พึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากรัสเซียเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยคิดเป็นเกือบ 10% ของการนำเข้าโดยรวมของอาเซียน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากจีนและแคนาดา  


และโดยที่ภาคการเกษตรยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน การขาดหายไปของปุ๋ยรัสเซียอาจส่งกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และยังจะทำให้การเพาะปลูกสินค้าเกษตรของอาเซียนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น 


เวียดนามส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ รวมทั้งสมาร์ตโฟนไปตลาดรัสเซียคิดเป็นมูลค่าถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยเวียดนามใช้ประโยชน์จากการลงนามในกรอบการเปิดเสรีทางการค้ากับสหภาพเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ในการส่งสินค้าเข้าตลาดเหล่านี้ในอัตราอากรนำเข้าเป็นศูนย์  


ผมยังเชื่อมั่นว่า หากเวียดนามไม่โดนสหรัฐฯ แซงชั่นทางการค้า ก็คาดว่าเวียดนามจะสามารถเพิ่มประเภทสินค้าและมูลค่าการส่งออกไปได้อีกมากในอนาคต


ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า อินโดนีเซียก็แสดงความสนใจในการทำ FTA กับ EAEU อยู่เช่นกัน และเป็นหนึ่งในประเด็นการหารือในโอกาสที่ผู้นำอินโดนีเซียเยือนรัสเซียเมื่อเดือนก่อน  


กลุ่มความร่วมมือฯ นี้สำคัญอย่างไร EAEU ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเดิม อันได้แก่ รัสเซีย อาเมเนีย เบลารุส คาซักสถาน และ คีร์กีซสถาน มีพื้นที่รวม 20.3 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็น 13.4% ของพื้นที่อยู่อาศัยโดยรวมของโลก ยาวเหยียดจากยุโรปตะวันออกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก


ปัจจุบัน EAEU มีประชากรกว่า 180 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 2.3% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจโดยรวมราว 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 3% ของจีดีพีโลก โดยมีรัสเซียเป็นแกนหลัก


ขณะเดียวกัน กลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าวค้าขายกับประเทศนอกกลุ่มในมูลค่า 740,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นราว 2.4% ของการค้าโดยรวมของโลก หรือเกือบ 2 เท่าของมูลค่าการค้าฯ ของไทย หากเรามองว่าตลาดดังกล่าวมีขนาดใหญ่และเปิดกว้างสำหรับสินค้าของอาเซียน ไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาจัดทำ FTA ด้วยเช่นกัน  


ในด้านพลังงาน นอกจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และประเทศอื่นในเอเซียที่ได้รับประโยชน์จากแหล่งพลังงานใหม่ราคาถูกของรัสเซียแล้ว ปัจจุบัน รัสเซียผลิตน้ำมันดิบวันละ 10.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเหลือส่งออกถึงวันละ 7 ล้านบาร์เรล


การเร่งขยายโครงการก่อสร้างท่อน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเส้นทางไซบีเรียตะวันออก-มหาสมุทรแปซิฟิก (East Siberia-Pacific Oceon: EPSO) ที่จีนอนุมัติเงินกู้ก้อนใหญ่ ก็คาดว่าจะขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานแก่ภูมิภาคอาเซียนได้เช่นกันในอนาคต

 
ยิ่งหากมองต่อไปถึงการปรับสู่นโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) ก็เท่ากับว่า รัสเซียจะขยับเข้าใกล้ชิดกับเศรษฐกิจในเอเซียมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงอาเซียนอยู่ด้วย นั่นหมายความว่า อาเซียนมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากมายรออยู่ในอนาคตเช่นกัน 


ในด้านการทหารและความมั่นคง รัสเซียยังเป็นประเทศที่ซัพพลายอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีสัดส่วนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของการจัดซื้อโดยรวมของอาเซียนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย

 

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีหลัง รัสเซียก็ยังซ้อมรบกับอาเซียนอยู่เป็นระยะ โดยครั้งล่าสุดมีกองเรือรบจาก 7 ประเทศเข้าร่วมภารกิจดังกล่าว 


ในส่วนของผลกระทบต่อไทย ก็นับว่าครอบคลุมในหลายด้านในปัจจุบัน และมีศักยภาพในระยะยาว ในปีที่ผ่านมา การส่งออก-นำเข้าระหว่างไทย-รัสเซียมีมูลค่าราว 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่สูง

 

โดยไทยส่งออกราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าสำคัญได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ และ อาหารกระป๋อง ขณะเดียวกันก็นำเข้าจากรัสเซีย 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยน้ำมันดิบ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเหล็กเป็นหลัก


ทั้งสองฝ่ายยังบรรลุความตกลงที่จะผลักดันให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นเป็นถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 แม้จะเป็นตัวเลขเป้าหมายจะดูน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมายการค้าระหว่างรัสเซีย-จีนที่กำหนดไว้ถึง 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2024  


อย่างไรก็ดี เป้าหมายดังกล่าว ก็เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกและสะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ไทยและรัสเซีย ต้องการยกระดับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันในอนาคต

                                   สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาส ของจีน อาเซียน และไทย (จบ)
ในด้านการลงทุน รัสเซียมีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาคน ที่ผ่านมา ธุรกิจรัสเซียได้นำร่องเข้ามาลงทุนในโรงงานผลิตสินค้าไอที ท่องเที่ยว และอื่นๆ ในไทย  


ในทางกลับกัน ก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยอย่างซีพี ที่เข้าไปลงทุนในรัสเซีย โดยมีการลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์ และ ฟาร์มหมู และมีอีกหลายโครงการต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารให้แก่รัสเซียในอนาคต 


ในด้านการท่องเที่ยว ไทยได้รับประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวจากรัสเซียจำนวนมากในแต่ละปี โดยมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาเยือนไทยราว 1.5 ล้านคน เป็นอันดับ 7 ของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย 


นักท่องเที่ยวรัสเซียจึงถือเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของไทย และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเหน็บในรัสเซียในฤดูหนาว ไทยจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ ของรัสเซียตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนรัสเซียต้องการมาเพลินเพลินกับ “สายลม แสงแดด ชายหาด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต สมุย และ กระบี่ 


ประการสำคัญ นักท่องเที่ยวรัสเซียยังมีความสำคัญในเชิงคุณภาพ โดยใช้จ่ายเงินต่อหัวในไทยมากกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 รองจากจีน และ มาเลเซีย 


การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน/ไทย-รัสเซีย/ยูเครน จึงเป็นประโยชน์ในหลายมิติทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

นอกจากมิติด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวแล้ว รัสเซียยังจะเข้ามาช่วยถ่วงดุลอำนาจทางการทหารและความมั่นคงแก่อาเซียน/ไทยในระยะยาว 


ประการสำคัญ เมื่อไม่กี่วันก่อน สถานการณ์วิกฤติยูเครนผ่อนคลายลงอย่างไม่คาดคิด โดยรัสเซียและยูเครนได้บรรลุข้อตกลงในบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัสเซียยอมเปิดเมืองท่าทางตอนใต้ของยูเครน ที่ยึดไว้ให้ขนถ่ายสินค้าผ่านทะเลดำไปยังประเทศในภูมิภาคได้  


สิ่งนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจของยูเครนที่กำลังแบกภาระหนี้สูงถึงราว 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดผลกระทบจากวิกฤติอาหารและพลังงานต่อผู้บริโภคในอนาคต 


แม้ว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะยังคงไม่มั่นใจในคำมั่นสัญญาดังกล่าว แต่ก็เป็นโอกาสที่รัสเซียจะเปลี่ยนจากบท “ผู้ร้าย” ที่ชาติตะวันตกถูกมอบให้ ไปเป็น “พระเอก” แบบหล่อๆ กันแล้ว  


หากนานาประเทศหันมาร่วมกัน “ถอนฟืนจากกองไฟ” วิกฤติยูเครนก็จะยิ่งคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์โลกจะพลิกผันจาก “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างมาก ให้เป็น “โอกาสซ้อนโอกาส” สำหรับชาวโลกได้ เราจึงควรต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดครับ ...