สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (3)

30 มิ.ย. 2565 | 07:00 น.
805

สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ไม่มีใครคิดว่าความใกล้ชิดกันระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ในเชิงภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมสังคม จะมีระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และนำไปสู่ปมขัดแย้งจนขยายวงเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้วอะไรเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้รัสเซียเดินเกมเช่นนี้ วันนี้เราจะไปพูดคุยกันต่อครับ
 

ยูเครนประกาศอิสรภาพเมื่อต้นเดือนธันวาคม 1991 หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไม่นานนัก ยูเครนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์อันดับ 2 ของยุโรป แต่ก็เต็มไปด้วยผู้คนเชื้อสายรัสเซีย เพราะตลอดเวลาหลายสิบปีที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต คนเชื้อสายรัสเซียและยูเครนจำนวนมากก็แต่งงานและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
 

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนักก็คือ ยูเครนยังคงมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนและคอร์รัปชัน ขณะที่สนามการเมืองในยูเครนก็แบ่งเป็นขั้วของค่ายตะวันตกและค่ายรัสเซีย อาทิ วิกเตอร์ ยูชเชนโก และวิกเตอร์ ยานูโกวิช ที่เป็นเสมือนตัวแทนของแต่ละค่าย ตามลำดับ 
 

ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่ายูเครนเป็น “จุดตาย” ของอีกฝ่ายหนึ่ง และต่างเดินเกมรุกรับกันไปมาเพื่อรักษาฐานอำนาจของตนเองเอาไว้อย่างไม่ลดละ ทำให้ยูเครน เต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วงและความรุนแรงทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
 

ในด้านหนึ่ง ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายลง เราได้เห็นสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจับมือกันดำเนินยุทธศาสตร์ “บีบรัด” รัสเซีย คล้ายกับที่จีนโดนรุมกินโต๊ะ “ปิดล้อม” รอบด้าน แต่เนื่องจากรัสเซียมีขนาดใหญ่มากในเชิงภูมิศาสตร์ ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรให้ความสำคัญกับภูมิภาคยุโรปเป็นอันดับแรก โดยยึดหลักการที่ว่า “การเดินเกมรุก” คือ “การตั้งรับ” ที่ดีที่สุด


 

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรใช้จังหวะโอกาสที่เห็นสภาพเศรษฐกิจของรัสเซียยังคงอ่อนแอ เดินหน้าขยายอิทธิพลกับหลายชาติในยุโรปผ่านองค์การนาโต้ สหภาพยุโรป และอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่ม “แรงกดดัน” ต่อรัสเซียโดยลำดับ
 

เราเห็นความพยายามในการเสนอแผนปฏิบัติการ ขยายจำนวนสมาชิกให้แก่ ยูเครน ในระหว่างการประชุมสุดยอดนาโต้ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2008 ซึ่งทำให้ รัสเซีย ไม่พอใจอย่างมาก และแสดงจุดยืนคัดค้านผ่านหลายเวที แม้ว่าหลายประเทศจะปฏิเสธถึงความพยายามในการรับ ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้อีกหลายครั้ง แต่ก็ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานในเวลาต่อมา
 

ขณะเดียวกัน การได้ผู้นำที่แสดงจุดยืนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อาทิ เซเลนสกี ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองดังกล่าว ยังตามมาด้วยการสลายอำนาจของกลุ่มการเมืองและนักธุรกิจสายรัสเซีย ซึ่งส่งสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปถึงรัสเซีย
 

รัสเซียประเมินว่า เพียงการใช้วิธีการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทูต ดูจะไม่พอที่จะหยุดยั้งการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในยุโรป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทางการเมือง และบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศในอนาคต
 

ยูเครนดูจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่รัสเซียยอมรับไม่ได้ เพราะชายแดนของยูเครนอยู่ห่างจาก “กล่องดวงใจ” อย่างมอสโกเพียง 500 กิโลเมตร กอปรกับ ปูติน เองก็คิดเสมอว่า ชาวรัสเซียและยูเครนเป็นคนในประเทศเดียวกัน และไม่เห็นด้วยกับการประกาศอิสรภาพของยูเครนมาโดยตลอด

 

ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยลักษณะเฉพาะในเชิงสังคมวัฒนธรรมและความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง รวมทั้งความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ของพื้นที่ซีกตะวันตกและตะวันออก ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ และถูกใช้เป็นข้ออ้างที่ดีได้
 

ภูมิภาคดอนบาส ซึ่งประกอบด้วยโดเนตสก์และลูฮันสก์ เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ปัญหาขยายวงไปถึงจุดที่ผู้คนในพื้นที่รวมตัวกันออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มความเคลื่อนไหวในการแบ่งแยกดินแดน 
 

โดยอาศัยข้ออ้างว่า ยูเครนได้พยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนเชื้อสายรัสเซียในพื้นที่ รัสเซียจึงให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และขยายวงไปสู่การยึดสำนักงานของรัฐ จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายสภาพ เป็น “รัฐตัวแทน” ของรัสเซียในยูเครน
 

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและการต่อสู้ทางการเมือง ที่เข้มข้นดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายยิ่งขึ้น ในเวลาต่อมา หลายฝ่ายประเมินว่า รัสเซียจะเดินแผน “บันได 3 ขั้น” เริ่มจากการปิดล้อมยูเครน ขยายสู่การยึดครองยูเครน และการโต้กลับอิทธิพลของค่ายตะวันตกในยุโรป 
 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยท่านหนึ่งเห็นว่า ในระยะแรก รัสเซียพยายามปิดล้อมยูเครนให้มีสภาพเป็นเสมือน “แลนด์ล็อค” ซึ่งหากทำได้ ยูเครนก็จะหมดหนทางต่อสู้อย่างแน่นอน 
 

ขณะเดียวกัน การเมืองระหว่างประเทศในย่านนั้น มีสภาพที่อ่อนไหวและเปราะบางอยู่มาก บางประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนก็เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับรัสเซียอยู่เป็นทุนเดิม เช่น เบลารุสทางตอนเหนือ และมอลโดวาทางตอนใต้ รวมทั้งบางพื้นที่ตามแนวพรมแดนในบางพื้นที่ ก็ดูจะไม่ลงรอยกับรัฐบาลกลางของยูเครน ซึ่งรัสเซียก็ให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับประเทศและแนวร่วมเหล่านี้อยู่
 

ในด้านซีกตะวันออกของมอลโดวา ก็เป็นเขตแบ่งแยกดินแดนที่คนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่ชื่อว่า ทรานส์นิสเตรีย แม้ว่ารัฐบาลมอลโดวาถือว่า ทรานส์นีสเตรีย ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของตน โดยมีสถานะเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเอง แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลมอลโดวาก็ไม่ได้มีอำนาจปกครองดินแดนนี้แล้ว และปัจจุบันก็มีกองทัพรัสเซียประจำการอยู่ในพื้นที่
 

ตอนหน้าเราไปคุยกันว่า รัสเซียก้าวเดินสู่บันไดขั้นแรกที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ...
 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,796 วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565