จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (4)

05 มิ.ย. 2565 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2565 | 20:28 น.
1.0 k

จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกจากนี้ จีนยังพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตัลอย่างกว้างขวาง สวนอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีฉางซิง (Changxing) เมืองหูโจว (Huzhou) ซึ่งตั้งอยู่ในด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเจ้อเจียง ที่มีชื่อเสียงในการเป็นพื้นที่นำร่องของหลายโครงการยุคใหม่ของจีน นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในโครงการนำร่องก็ได้แก่ การเลี้ยงแกะสายพันธุ์ท้องถิ่นจำนวนเกือบ 50,000 ตัว ด้วยเกษตรกรจำนวนน้อยนิด 


ด้วยความพร้อมของระบบ 5G ทำให้เกษตรกรจีนในพื้นที่สามารถพัฒนาระบบดิจิตัลเพื่อติดตามการเลี้ยงแกะแบบเรียลไทม์ ทั้งการกำกับการให้อาหารสัตว์ และการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น รวมทั้งก๊าซแอมโมเนียและไฮโดรเจนซัลเฟอร์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์และระบบนิเวศ แถมยังสามารถปรับจูนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยเทคโนโลยีทางไกลได้ตลอดเวลา

ระบบช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระงานด้านปศุสัตว์ได้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรแต่ละคนสามารถเลี้ยงแกะได้ถึง 3,000 ตัวในปัจจุบัน จากเดิมเพียง 10 ตัวในอดีต ซึ่งนำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ด้านการเกษตรขึ้นหลายเท่าตัว

 

หมู่บ้านซินเฟิง (Xinfeng) ในเขตอันเหริน (Anren) เมืองเชินโจว (Chenzhou) ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลหูหนาน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึง พื้นที่เพาะปลูกถูกใช้เป็นจุดทดลองด้านการเกษตรสมัยใหม่ชั้นแนวหน้าของจีน 

โดยพื้นที่ราว 84.5% ของพื้นที่การเพาะปลูกโดยรวมในปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เกษตรกรในพื้นที่สามารถใช้แอพในโทรศัพท์มือถือในการแบ่งปันข้อมูล ส่งคำสั่งซื้อ และอื่นๆ ทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และประหยัด


 ขณะเดียวกัน หมู่บ้านซินเฟิงยังได้รับโอกาสในการเป็นแหล่งศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว และความบันเทิง CCTV สถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีนเคยจัดอันดับไว้ว่า หมู่บ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกเรปซีดที่งดงามมากที่สุด 3 อันดับแรกของจีน 


ยิ่งยามเบ่งบาน ทุ่งเรปซีดแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ผู้คนในเมืองใกล้ไกลต่างอยากมาชื่นชมบรรยากาศ และเก็บภาพถ่ายเป็นที่ระลึก บ้านเดิมของเกษตรกรจำนวนหลายหลังถูกปรับปรุงและเปลี่ยนสภาพเป็นที่พักขนาดย่อม และมีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงแรมขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งว่ากันว่าลูกค้าต้องจองกันข้ามปีกันเลยทีเดียว 

                               จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (4)
เมื่อ “กำลังซื้อ” หลั่งไหลเข้าสู่หมู่บ้าน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์อย่างถ้วนทั่ว ภัตตาคารและร้านอาหารก็นำเอาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่มาปรุงอาหารจานพิเศษ ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง การจ้างงานของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


อ่านถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจบอกว่า ไทยเราก็มีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบท อาทิ โครงการชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี คล้ายกับของจีนเช่นกัน ผมก็ได้แต่อยากจะเห็นการดำเนินโครงการที่เป็นระบบ จริงจัง ต่อเนื่อง และมุ่งเน้นความเป็นรูปธรรมเชิงคุณภาพสูง เพื่อเราจะได้นำไปขยายผลสู่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยกลับมาเยือนไทยมากขึ้น

 

ในความพยายามที่ต้องการเติมพลังด้านดิจิตัล จีนได้ดำเนินโครงการระดับชาติที่นำเอาอีคอมเมิร์ซลงสู่พื้นที่ชนบทมากกว่า 1,400 เขต ในระหว่าง


ปี 2014-20 ซึ่งปลดปล่อยศักยภาพของการบริโภคในรูปแบบของอินเตอร์เน็ตพลัส และการส่งเสริมการตลาดและการขายสินค้าและบริการในชนบทผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง


ไค่วโซ่ว (Kuaishou) แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอสั้น ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการบรรเทาความยากจนให้กับคนในชนบท โดยจีนอาศัยแพลตฟอร์มนี้ในการทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในชนบทอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงวิธีการสร้างและประกอบธุรกิจ รวมทั้งการจัดหาเส้นทางข้อมูลและทรัพยากรการสร้างแบรนด์ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และเพิ่มเติมพลังสู่ความมั่งคั่งในพื้นที่ชนบท


จากข้อมูลของไค่วโซ่ว ในปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มนี้ได้สนับสนุนด้านข้อมูลแก่ผู้ประกอบการในชนบทมากกว่า 100 ราย และบ่มเพาะกิจการและสหกรณ์รวม 57 กิจการที่นำไปสู่การจ้างงาน 1,200 ตำแหน่ง และช่วยเพิ่มรายได้ให้กว่า 10,000 ครอบครัวในพื้นที่ชนบท

 

ครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านฮัวผิง (Huaping) มณฑลยูนนาน ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ใช้ไค่วโซ่วในการทำไลฟ์สตรีมมิ่งจำหน่ายมะม่วง น้ำผึ้ง และผลผลิตอื่นในพื้นที่ วิธีการดังกล่าวช่วยเกษตรกรที่เพาะปลูกมะม่วงกว่า 70 ครอบครัว และคนเก็บน้ำผึ้งจำนวน 80 ชีวิตมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ


 คู่สามีภริยานี้ยังคิดไกล และพยายามสานต่อศักยภาพที่ท้องถิ่นมีอยู่ในเชิงรุก โดยวางแผนที่จะจัดตั้งสหกรณ์เพื่อสร้างแบรนด์ผลผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมการตลาดมะม่วงสดและแปรรูป และสินค้าอื่นในพื้นที่ในระยะยาว


ผมยังมีอีกหลายตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ชนบทของจีน ที่เราน่าเรียนรู้ แต่คงต้องขอยกยอดไปต่อในตอนหน้าครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565