จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (1)

19 พ.ค. 2565 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 19:07 น.
1.7 k

จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ก้าวเข้าสู่ “ความเป็นชุมชนเมือง” (Urbanization) และขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การละทิ้งถิ่นฐานจากชนบทมาอยู่ในเมืองทำให้จำนวนเกษตรกรลดลง ขณะที่กำลังซื้อในชนบทก็พลอยลดลง 


ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทก็ยังมีเกือบครึ่งประเทศ และส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ต่ำกว่าคนเมืองราว 2 เท่าตัว รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชนบทเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และฐานะของผู้คนในชนบท รวมทั้งดึงคนกลับท้องถิ่น

ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังได้จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอื่น เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ชนบท ในสัดส่วนที่มากกว่าพื้นที่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนน ชลประทาน ไฟฟ้า และโครงข่ายอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการอุดหนุนทางการเงิน การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และโครงการอื่นๆ ในหลากหลายรูปแบบเพื่อการพัฒนาภาคการผลิตในชนบท


ส่งผลให้จีนประสบความสำเร็จในการช่วยให้คนจำนวนถึง 800 ล้านคนหลุดพ้นเหนือเส้นแบ่งแห่งความยากจน (Poverty Line) และฉลองศตวรรษแรกของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการบรรลุเป้าหมายสำคัญที่สามารถขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินจีนไปเมื่อไม่นานมานี้ แถมยังเดินหน้าสู่หมุดหมายใหม่ของ “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) ซึ่งถูกมองว่าเป็นแคมเปญสำคัญของ สี จิ้นผิง ในการต่อเทอม 3 อีกด้วย

ด้วยความพร้อมพรั่งของการพัฒนาดังกล่าว ก็นำไปสู่โอกาสของเกษตรกรและคนในชนบทของจีนในการนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มากมายในระยะหลัง วันนี้ผมจึงขอเอาตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาชนบท ที่กำลังโด่งดังในจีนมาแบ่งปันกัน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารขององค์กรส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการในการพัฒนาพื้นที่ในชนบทของไทยครับ ... 


สิ่งหนึ่งที่เราได้ยินมามากเกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจ “พื้นๆ” ในชนบทจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ การเสนอขายสินค้าเกษตรของชนบทผ่านช่องทางออฟไลน์ ที่อยู่ในเมืองหลักและขยายตัวสู่เมืองรอง อาทิ โมเดิร์นเทรด และ เชนสโตร์ รวมถึงร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของหมู่บ้าน 


ด้วยการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของจีนในระยะหลัง ทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดจีน ทำให้จีนกลายเป็นตลาดการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่ากว่า 13 ล้านล้านหยวนต่อปี ความนิยมนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในชุมชนเมือง แต่กระจายตัวสู่ชนบทอย่างรวดเร็ว 


“หมู่บ้านเถาเป่า” (Taobao Village) ในมณฑลเจียงซูถือเป็นตัวอย่างแรกๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีก่อน เกษตรกรจำนวนมากต่างเปิดร้านขายสินค้าออนไลน์ในเถาเป่า สินค้าเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นในหมู่บ้าน และช่วยสร้างให้คนในพื้นที่กลายเป็นผู้ประกอบการในชั่วพริบตา 


หลักสูตรการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องถูกติดอาวุธให้เกษตรกรยุคใหม่ อาทิ เทคนิคการถ่ายภาพ การตลาดออนไลน์ การสร้างแบรนด์ และ การจัดการร้านออนไลน์ ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากการพัฒนาหมู่บ้านเถาเป่ายังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับพื้นที่ชนบทจีนในเวลาต่อมา


ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการในชนบทก็ใช้จังหวะโอกาสนี้ในการนำเสนอและจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ตรงไปยังลูกค้าเป้าหมายในชุมชนเมือง ระบบนิเวศที่มาพร้อมกับบริการชำระเงินออนไลน์ บริการจัดส่งถึงบ้าน และอื่นๆ ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกในการซื้อหา ขณะที่ผู้ขายก็มีตลาดที่กว้างขึ้น และสามารถนำเสนอสินค้าที่สดและมีคุณภาพผ่านการไลฟ์สด ซึ่งทำให้ได้รับมาร์จินที่สูงขึ้น


ความพร้อมของสินค้าจากพื้นที่ในชนบทของจีนขยายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และพุ่งทะยาน “ข้ามพรมแดน” ออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มและบริการที่พร้อมสรรพของจีน สิ่งนี้ช่วยให้จีนสามารถลดแรงกดดันจากแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรที่ใหญ่สุดของจีนอย่างมณฑลซานตงได้เป็นอย่างมาก 

                                          จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (1)
เท่านั้นไม่พอ เรายังเห็นรูปแบบการนำเสนอผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งในระยะหลัง โดยหลายครั้งก็ใช้เกษตรกรหรือผู้ผลิตในท้องถิ่นที่นำเสนอเก่งมาเป็น KOL และใช้พื้นที่ร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือวิวพื้นที่ชนบทที่งดงามเป็นฉากหลัง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคที่มองหา “ของแท้” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและความเป็นธรรมชาติ


ธุรกิจก็ยัง “สร้างสรรค์” และ “เอาใจ” ลูกค้าเพิ่มขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อผักผลไม้สดออนไลน์ในประเภท และปริมาณตามที่ต้องการได้ พร้อมบริการจัดส่งที่รวดเร็วทันใจในราคาพิเศษ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่สด ใหม่ และมีคุณภาพ


วิธีการขายที่ดู “ดิบๆ ดาดๆ” กลับ “โดดเด่น” ช่วยเพิ่มการสั่งซื้อสินค้า และกระตุ้นความต้องการไปเยี่ยมชมเมือง หรือ ไปพักผ่อนในพื้นที่อีกด้วย สิ่งนี้เป็นการแปลงวิกฤติเป็นโอกาส และสร้างประโยชน์ทางธุรกิจจากกระสุนที่มีอยู่อย่างจำกัดอีกด้วย 


เมื่อโอกาสทางธุรกิจเปิดขึ้น ผู้ประกอบการก็ปรับโมเดลธุรกิจในทันที โดยพื้นที่ในชนบทถูกออกแบบเป็น “ฟาร์มแบ่งปัน” (Shared Farms) คล้ายแนวคิด “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Shared Economy) ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน 


จาก “การขายสินค้า” ก็ขยับสู่ “การขายบริการ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ในหมู่บ้านหลายแห่งถูกปรับใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่ชุมชนในหมู่บ้านถูกปรับเปลี่ยนและแต่งเติมเป็น “โฮมสเตย์” ที่อาศัย “ความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติ” เป็นจุดขาย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในยุคหลังโควิด


สิ่งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มคนในเมืองที่ต้องการใช้เวลาวันหยุดกับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนฝูง พร้อมกับหลีกหนี “ความแออัด” ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดไปในตัว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถจองที่พักออนไลน์ล่วงหน้าได้


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน


หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,784 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565