จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (1)

06 เม.ย. 2565 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2565 | 17:51 น.
2.3 k

จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกจากการเป็น “วันโกหก” (April’s Fool Day) ของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว วันที่ 1 เมษายน ยังมีความสำคัญสำหรับชาวจีน ในฐานะวันเกิดของเมืองใหม่ “สวงอัน” (Xiong'an) การเกิดใหม่ในปี 2017 นับว่าเต็มไปด้วยพลังเสริมจากรอบด้าน ส่งผลให้จีนเดินหน้าเปลี่ยนท้องนาให้เป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะที่สุดล้ำแห่งโลกอนาคต แต่ทำไมจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ต้องสร้างเมืองใหม่นี้ขึ้นมา …

 

ประการแรก การลดความแออัดและกระจายความเจริญ รัฐบาลจีนต้องการหาพื้นที่รองรับความหนาแน่นของกรุงปักกิ่ง โดยหวังดึงเอากิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกมานอกพื้นที่ และใช้เมืองใหม่เป็นจุดประสานการพัฒนากลุ่มเมืองปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย หรือ “จิงจินจี้” (Jing-Jin-Ji) ที่ต่อยอดมาจากโมเดลการพัฒนาชุมชนเมืองของจีนในอดีต 

ประการสำคัญ เมืองต้นแบบแห่งโลกอนาคต รัฐบาลจีนต้องการที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะ ที่พร้อมพรั่งไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับโลกดิจิตัลที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม ระบบบริการสาธารณะที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อหวังที่จะให้เป็นต้นแบบเมืองแห่งการพัฒนาคุณภาพสูง (High-Quality Development) ของจีนในอนาคต 

 

อีกประการหนึ่ง ก็คือ แฟชั่นของผู้นำจีน ผู้นำจีนที่โดดเด่น นิยมสร้างเมืองใหม่ให้เป็นเสมือนเชิงสัญลักษณ์ในยุคสมัยของตนเอง ในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง เขต เศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen Special Economic Zone) และเขตเมืองใหม่ผู่ตง (Pudong New District) ได้ถูกกำหนดขึ้น และพัฒนาเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนของต่างชาติ และศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ ตามลำดับ ซึ่งผู้นำจีนในปัจจุบันอย่าง สี จิ้นผิง ก็ต้องการทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

ก่อนหน้าที่จะได้รับการยกระดับสถานะขึ้นเป็นเมืองใหม่ สวงอันจัดเป็นพื้นที่ชนบทด้านการเกษตร และขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เรียกว่าล้าหลังเมืองใหญ่ข้างเคียงอยู่มาก และไม่เป็นที่รู้จักเอาเสียเลย 

 

ถึงขนาดว่าช่วงแรกๆ หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศโครงการนี้ คนจีนส่วนใหญ่ไม่เคยไปเยือนสวงอันมาก่อน และคนจีนจำนวนมากสงสัยว่าสวงอันอยู่หนใด และจะก้าวขึ้นมาเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างไร 


สำหรับจีน สวงอันเป็นเมืองขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 1,770 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ของเราเล็กน้อย ตั้งอยู่ในมณฑลเหอเป่ย (Hebei) ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตอนใต้ราว 100 กิโลเมตร ไม่ไกลจากสนามบินระหว่างประเทศต้าซิง (Daxing) ที่จะกลายเป็นสนามบินที่รองรับผู้โดยสารมากที่สุดในโลกในอนาคต


ในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองสวงอันระหว่างปี 2018-2035 ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อปลายปี 2018 รัฐบาลจีนได้เชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจีนและต่างชาติมากกว่า 1,000 คนรวมกว่า 200 ทีม และช่างเทคนิคเฉพาะทางมากกว่า 2,500 คน เพื่อระดมความคิดในการพัฒนาที่ผสมผสานวิสัยทัศน์ระดับโลก มาตรฐานระหว่างประเทศ ลักษณะพิเศษของจีน และเป้าหมายแห่งอนาคต เอาไว้อย่างรอบด้าน 


ในแผนแม่บทการพัฒนาฯ สวงอันถูกวางแผนที่จะพัฒนาเป็นเขตนำร่อง “การพัฒนาคุณภาพสูง”  ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมุ่งหวังให้เป็นเมืองที่ทันสมัย มีสีสัน มีความเป็นอัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ รวมทั้งยังจะเป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมด้านดิจิตัลภายในปี 2035


แผนแม่บทยังกำหนดว่า เมืองนี้จะมีประชากรราว 2.5 ล้านคนที่พร้อมพรั่งไปด้วยทรัพยากรคุณภาพสูงด้านการศึกษาและสุขภาพในยุคหน้า ผ่านไปไม่นาน เราจึงเห็นการเปิดวิทยาเขตของสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลชั้นนำของจีนและเทศอย่างรวดเร็ว และเมื่อพัฒนาไปในระดับหนึ่ง เมืองแห่งนี้จะกลายเสมือนแม่เหล็กใหญ่ที่ดึงดูดผู้คนที่มีพรสวรรค์จากทั่วโลกให้เข้ามาใช้ชีวิต


ขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีน เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly City) ก็เป็นแกนหลักในแผนแม่บทการพัฒนาเมืองนี้ เพื่อหวังให้มนุษย์กับสภาพแวดล้อมอยู่ด้วยกันอย่างสมดุลและยั่งยืน เราจึงเห็นการให้ความสำคัญกับ  “สีเขียว” และการรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในพื้นที่แบบครบวงจร 


รัฐบาลท้องถิ่นยังได้ออกกฎระเบียบและข้อบังคับในการก่อสร้างอาคารและพื้นที่ที่มีมาตรฐานสูงและเป็นไปอย่างเข้มงวด ทั้งในด้านสไตล์และลักษณะพิเศษ โครงการก่อสร้างอาคารที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐและอาคารขนาดใหญ่จะต้องมีมาตรฐานอาคารสีเขียวระดับ 3 ดาว (สูงที่สุดของจีน) ที่ใช้แนวคิดการพัฒนา

                                         จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (1)

“ชุมชนวงจรชีวิต 15 นาที” ที่เป็นแนวคิดการพัฒนาชุมชนทันสมัยของจีน 
เราจึงจะไม่เห็นการก่อสร้างอาคารสูงที่มีรูปทรงแปลกประหลาด หรือห่อหุ้มด้วยกระจก และถนนหนทางที่เต็มไปด้วยสายไฟฟ้าและสายสื่อสารที่ระโยงระยางราวใยแมงมุมเหนือศีรษะ ที่สร้างมลพิษทางสายตาแก่ผู้คนในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งถนนที่คดเคี้ยวและขรุขระเพราะสร้างอยู่บนฝาท่อ และต้องปิดเพื่อซ่อมแซมท่อที่ฝังอยู่ใต้ดินเป็นระยะ เหมือนที่เมืองเก่าหลายแห่งในโลกประสบอยู่ 


มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงอยากทราบกันแล้วว่า ผ่านมาราว 5 ปี เมืองสวงอันก่อสร้างและพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ...  


โดยที่จีนเป็นประเทศที่มีระบบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง การตอบสนองเชิงนโยบายก็เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพียง 6 เดือนหลังการประกาศจัดตั้งเขตเมืองใหม่ดังกล่าว โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกคุณภาพสูงก็เริ่มตอกเสาเข็มขึ้นในพื้นที่ อาทิ ศูนย์บริการประชาชน ระบบไฟฟ้าและประปา ศูนย์กีฬา และห้องสมุด  


ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมหลักของจีนอย่าง China Telecom, China Mobile และ China Unicom รวมทั้งสวนอุตสาหกรรมจำนวน 3 แห่ง ได้เข้าไปลงทุนเป็นกลุ่มแรกๆ เพื่อเตรียมรองรับการโยกย้ายหน่วยงานบริการสาธารณะและโรงงานอุตสาหกรรมจากปักกิ่งเข้าไปในพื้นที่ โดยบางส่วนเริ่มเปิดให้บริการนับแต่กลางปี 2018 


ด้วยการทุ่มเทการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จริงจัง และต่อเนื่อง ปัจจุบัน พื้นที่ตอนในของสวงอันก็เต็มไปด้วยบริการสาธารณะพื้นฐานที่พร้อมสรรพ และคลาคล่ำไปด้วยโครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชน โดยกว่า 200 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เรากำลังพูดถึงเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 700,000 ล้านหยวน และการจ้างแรงงานคุณภาพจำนวนมากกว่า 200,000 คนในพื้นที่ 


เฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2022 สวงอันก็มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ถึง 43 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมมากกว่า 60,000 ล้านหยวน และในจำนวนนี้ จำนวน 16 โครงการมีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านหยวน 


เพื่อให้เมืองอัจฉริยะแห่งนี้เป็นจุดประสานงานของกลุ่มเมืองในย่านนี้ ทางการจีนยังได้ลงทุนในโครงการพัฒนาเส้นทางขนส่งและโทรคมนาคมแบบทุกทิศทุกทาง 


จีนลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ระหว่างปักกิ่ง-สวงอัน ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อสิ้นปี 2020 ทางรถไฟสายนี้ช่วยลดเวลาในการเดินทางจากราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เหลือเพียง 50 นาที ขณะที่สถานีรถไฟประจำเมืองก็ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อต้นปี 2021


รัฐบาลจีนยังลงทุนก่อสร้างทางด่วน 3 เส้นทางเพื่อเชื่อมสวงอันกับปักกิ่ง เทียนจิน และเมืองสำคัญอื่น โดยเริ่มเปิดใช้งานเส้นทางหลักไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ขณะที่ทางด่วนเชื่อมสวงอันกับสนามบินระหว่างประเทศต้าซิงก็อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2023


ฉบับหน้าเราจะไปคุยกันต่อถึงการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกล้ำสมัยในส่วนอื่นๆ กัน ...

 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน