จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (3)

23 เม.ย. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 15:43 น.
1.7 k

จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฉบับ 3776 โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะห้วงเวลานี้ใกล้ช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือเปล่า เพราะหลังบทความก่อนถูกตีพิมพ์ไม่นาน ก็มีท่านผู้อ่านและเพื่อนในวงการพัฒนาชุมชนเมืองสอบถามเพิ่มเติมกันมามาก อาทิ จีนมีรูปแบบการพัฒนาเมืองใหม่โดยรวมอย่างไร จะเป็นยิ่งกว่าเมืองอัจฉริยะได้หรือไม่ 


บ้างก็ถามว่า หลังปี 2035 ไปแล้ว เมืองใหม่สวงอันแห่งนี้จะเป็นเช่นไร ขณะที่อีกท่านหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่า กทม. และเมืองใหญ่ของไทยมีโอกาสจะก้าวล้ำนำยุคแบบสวงอันได้หรือไม่ ...

ต่อประเด็นแรก ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ทดลองพัฒนาเมืองใหม่ผ่านหลายรูปแบบ เหตุผลที่จีนต้องใช้หลายโมเดลก็เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ ที่แต่ละเมือง/ภูมิภาคมีสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน กอปรกับจีนก็มองหาสิ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และตระหนักดีว่า โมเดลที่ทดลองใช้อยู่อาจไม่ใช่สิ่งดีเหมาะสมที่สุด 


ดังนั้น จีนจึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในการพัฒนา (และจีนก็มีเมืองที่พร้อมจะทดลองโมเดลใหม่อยู่เสมอ) โดยเลือกใช้รูปแบบที่ความเหมาะสมของสภาพปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่

ขณะเดียวกัน จีนก็เลือกใช้โมเดลตามความพร้อมที่มีอยู่  ในยุคแรกๆ จีนนำเสนอ “เมืองคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Low-Carbon Eco-City) ที่มีคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก โดยทดลองในราว 100 เมืองบนพื้นฐานของการผลักดันการพัฒนาที่ปลดปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่ำ มุ่งการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่คาร์บอนต่ำ สีเขียว ประสิทธิภาพการใช้พลังงานดี และหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร


ขณะเดียวกัน จีนก็ปรับใช้ “เมืองนวัตกรรม” (Innovation City) คู่ขนานกันไป โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ NDRC ร่วมกันรับผิดชอบ โดยพยายามผลักดันให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพชุมชนเมืองผ่านนวัตกรรมในด้านวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโมเดลการจัดการ แต่รูปแบบนี้ก็ถูกนำไปทดลองใช้เพียงราว 60 เมืองที่เหมาะสมของจีนเท่านั้น


ต่อมาในปลายทศวรรษ 2010 เมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตและอื่นๆ มีความพร้อมมากขึ้น กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท ก็เริ่มทดสอบโมเดล “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ในหลายร้อยเมืองของจีน โดยอาศัยการวางแผน การก่อสร้าง การจัดการ และการดำเนินงานเพื่อพัฒนาชุมชนเมืองที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่าน IoTs คลาวด์ และไอทียุคใหม่


“เมืองสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Green Eco-City) ที่มีกระทรวงการเคหะฯ ร่วมกับกระทรวงการคลังเป็นแม่งานหลัก ก็เป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยโมเดลนี้ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับปรุงและสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับสภาพปัจจัยแวดล้อมของชุมชนเมืองที่ยั่งยืน


นอกจากนี้ ในยุคหลัง จีนยังเริ่มนำเอา “เมืองฟองน้ำ” (Sponge City) มาทดลองใช้อยู่บ้าง โดยมุ่งเป้าที่จะป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย หรือที่บ้านเราเรียกว่า “น้ำรอการระบาย” ในตัวเมือง และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น และพัฒนาสมรรถนะการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติดังกล่าว โดยการดูดซับ การเก็บรักษา การปรับปรุงคุณภาพ และการกระจายน้ำ


ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นกระทรวงการคลัง กระทรวงการเคหะฯ และกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบเพื่อทดลองใช้โมเดลนี้กับเมืองที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ


แล้วทำไมผมจึงบอกว่า เมืองใหม่สวงอันจะเป็น “ยิ่งกว่า” เมืองอัจฉริยะอื่นๆ ของจีน

 

หากเราวิเคราะห์ข้อมูลการพัฒนาที่ผมไล่เรียงไปก่อนหน้านี้จะพบว่า การพัฒนาสวงอันได้ผสมผสานหลายโมเดลการพัฒนาเมืองใหม่ที่จีนทดลองใช้ดังกล่าว ทั้งความเป็นอัจฉริยะ นวัตกรรม ความยั่งยืน และอื่นๆ ซึ่งเมื่อโมเดลนี้ตกผลึก รูปแบบใหม่นี้ก็อาจกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองอื่นๆ ของจีนต่อไปในอนาคต


ระบบการวางแผนเมืองใหม่สวงอันอยู่บนสูตร “1+4+26”

 

โดย 1 หมายถึง แผนแม่บทเดียวที่หวังบรรลุ 38 เป้าหมายเฉพาะทางให้ได้ภายในปี 2035 ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายด้านความอัจฉริยะและนวัตกรรม สิ่งแวดล้อมสีเขียว และชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเท่ากับว่า สวงอันจะเริ่มเบ่งบานในปี 2035 โดยจะมีความเป็นผู้นำในการเป็นเมืองนวัตกรรม เมืองอัจฉริยะ เมืองสีเขียว และเมืองน่าอยู่ในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศไปพร้อมกัน


ขณะที่ 4 หมายถึง แผนพัฒนาโดยรวม 4 ส่วนสำหรับการออกแบบและดำเนินงานก่อสร้างพื้นที่ตามแนวคิด “หนึ่งศูนย์กลาง” ที่มีขนาด 198 ตารางกิโลเมตรที่จะถูกก่อสร้างขึ้นก่อน พร้อมพื้นที่เมืองนวัตกรรมขนาด 38 ตารางกิโลเมตร “ห้าส่วนเสริม” ที่อยู่รายรอบ และ “หลายชุมชน” ซึ่งมีสภาพเป็นเมืองขนาดเล็กและหมู่บ้านที่น่าอยู่


ส่วน 26 หมายถึง แผนเฉพาะทาง 26 ส่วน อาทิ การป้องกันอุทกภัย การตอบสนองต่อภัยพิบัติ พลังงาน และการขนส่งแบบบูรณาการที่มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการขนส่งสาธารณะ จักรยาน และการเดิน


ต่อประเด็นที่ว่า หลังปี 2035 ไปแล้ว เมืองใหม่สวงอันจะเป็นเช่นไร สำหรับผมแล้ว ในระหว่างปี 2036-2050 สวงอันจะผลิดอกออกผลในวงกว้างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในการรองรับการกระจายธุรกิจบริการจากปักกิ่ง และเป็นองค์ประกอบหลักของกลุ่มเมือง “จิงจินจี้” ในบริเวณพื้นที่คอไก่ของจีน


นอกจากนี้ สวงอันยังจะบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัดระหว่างประเทศของเมืองที่มีความก้าวล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองใหม่ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของจีนในอนาคต เรากำลังพูดถึงเมืองที่ปราศจาก “สิ่งที่รกหูรกตา” และเต็มไปด้วย “สิ่งที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ของผู้คนในเมือง  (อ่านต่อตอนจบ ฉบับหน้า)


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน