จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (2)

14 เม.ย. 2565 | 11:00 น.
2.1 k

จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฉบับ 3774 โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

คราวก่อนเราคุยเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการพัฒนาเมืองแห่งโลกอนาคต และความคืบหน้าในการก่อสร้างและพัฒนาเมืองใหม่สวงอัน และมีท่านผู้อ่านสอบถามเข้ามาว่า อะไรทำให้ผมเชื่อมั่นว่าสวงอันจะพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างเป็นเต็มรูปสักเมื่อไหร่


อย่างที่ผมเรียนไปเบื้องต้นเมื่อคราวก่อนว่า จีนมีระบบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง ไม่ใช่เพราะความเป็นระบอบสังคมนิยม หรือเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อย่างที่คนไทยบางส่วนคิด การออกแบบนโยบายจะกระทำอย่างเป็นระบบและรอบคอบ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ทำให้ทุกภาคส่วนรับรู้ทิศทางนโยบายใหม่ในระดับหนึ่งแล้ว 

ครั้นพอกำหนดนโยบายและเป้าหมายใดไว้ รัฐบาลจีนก็จะใส่ทรัพยากรและทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเราอาจเห็นได้จากตัวอย่างของหลายนโยบายหลักของจีนในยุคหลัง 


ในแง่ของความต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะมีความต่อเนื่อง รัฐบาลจีนก็ไม่เพียงนำเอาแผนการพัฒนากลุ่มเมือง “จิงจินจี้” ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาเมืองใหม่สวงอัน บรรจุไว้ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-25) เท่านั้น แต่ยังใส่ไว้ในแนวทางการพัฒนาในระยะยาวปี 2035 หรือสิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 16 (2031-2035) 

ประการสำคัญ เมืองใหม่สวงอันเป็น “โครงการในฝัน” คู่บารมีของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนในปัจจุบันที่ผมคาดว่าจะดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2035 เป็นอย่างน้อย ซึ่งนั่นก็เป็นเป้าหมายระยะยาวที่คาดว่าจะเห็นความสำเร็จในการพัฒนาเมืองนี้เริ่มเบ่งบานในอีกราว 12 ปีข้างหน้านั่นเอง 


ต่อเนื่องจากการเล่าถึงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมภายในเมือง และเชื่อมโยงระหว่างสวงอันกับหัวเมืองข้างเคียงอื่นที่สะดวกและคล่องตัวเมื่อคราวก่อนแล้ว ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ด้วยทำเลที่ตั้งและโครงข่าย/ระบบการขนส่งที่ทันสมัย ผู้คนสามารถเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงระหว่างสวงอัน-ต้าชิง สนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้เวลาไม่ถึง 20 นาทีเท่านั้น


สิ่งนี้อาจทำให้ผู้อ่านหลายท่านนึกเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตยามเช้าใน กทม. ที่ด้วยระยะเวลาดังกล่าว เรายังอาจขับรถไม่พ้นซอยในบ้าน หรือยังยืนรอรถเมล์ประจำทางคันถัดไปอยู่เลย!


วันนี้ ผมขอพาไปคุยกันต่อถึงการลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกล้ำสมัยส่วนอื่นที่จะส่วนช่วยให้สวงอันเมืองใหม่เป็นมากยิ่งกว่า “เมืองอัจฉริยะ” อื่นๆ ของจีนในอนาคตกัน ...

                                          จีนเนรมิตเมืองใหม่สวงอันแบบสุดล้ำ (2)
ในด้านอาคารสถานที่ อย่างที่ผมแจ้งไว้เมื่อคราวก่อนว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของสวงอัน เราเห็นอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย “สีเขียว” ที่มีมาตรฐานสูงต่างผุดขึ้นราวดอกเห็ด

 

โดยได้ก่อสร้างอพาร์ตเม้นท์เกือบ 1,000 แท่งขึ้นในเขตหรงตง (Rongdong) เพื่อรองรับโครงการโยกย้ายของผู้คนที่อาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ และความต้องการของผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ในอนาคต


ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้ยินข่าวว่า ผู้คนชุดแรกจำนวนกว่า 30,000 คน จากจำนวนรวม 170,000 คน ของระยะแรกที่โชคดีจับฉลากก็ทยอยโยกย้ายถิ่นฐานเข้าอพาร์ตเม้นต์กว่า 400 หลังคาเรือนแล้ว บนพื้นฐานของแนวคิดชุมชน 15 นาทีเดิน ชุมชนแห่งนี้ยังได้จัดเตรียมร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นใหม่อีกด้วย


นอกจากนี้ รัฐบาลสวงอันยังเดินหน้าอีกหลายสิบโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ ศูนย์บริการธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ถึง 900,000 ตารางเมตร หรือกว่า 560 ไร่ในซีกตะวันตกของเขตหรงตงก็เริ่มก่อสร้างฐานรากไปเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ศูนย์แห่งนี้จะถูกใช้เป็นเสมือน “ศูนย์ราชการ” เพื่อให้บริการสาธารณะโดยรวม


รัฐบาลท้องถิ่นยังได้พยายามนำเอาระบบที่สร้างสรรค์ และเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีระดับสูงที่พรั่งพร้อมด้วยนวัตกรรมเข้ามาติดตั้ง อาทิ โครงการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ต สวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัย ศูนย์การค้าดิจิตัล ศูนย์ทดสอบบล็อกเชน (Blockchain Test Center) และแล็บการขนส่งดิจิตัล (Digital Transportation Lab)


รวมทั้งยังต้องการดึงเอาธุรกิจด้านดิจิตัลชั้นนำทั้งระบบนิเวศเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาซอฟท์แวร์ ไอที และบริการด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้สวงอันพร้อมพรั่งไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัยอย่างรวดเร็ว 


ประการสำคัญ เพื่อรองรับความต้องการอัตโนมัติในอนาคต รัฐบาลท้องถิ่นยังลงทุนในแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ที่มาพร้อมกับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนศูนย์รวบรวมและประมวลผลอัจฉริยะในชุมชนเมือง ที่ทำหน้าที่เสมือน “สมอง” ของเมือง

 

ควบคู่ไปกับแพลตฟอร์ม IoTs แพลตฟอร์มเครือข่ายการติดตามผ่านระบบวิดีโอ และแพลตฟอร์มแบบจำลองข้อมูลเมือง (City Information Modeling) ที่ทำหน้าที่เป็น “เส้นประสาท” ของร่างกายมนุษย์


ในส่วนของเอกชน ก็ตอบรับแนวทางดังกล่าวในทันที Tencent, Alibaba และ Baidu เข้าสู่สนามใหม่เป็นกลุ่มแรกๆ โดยจะนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยไปสร้างโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ ระบบคลาวด์ บล็อกเชน และบิ๊กดาต้า และคาดว่าจะมีกิจการจีนและต่างชาติมากมายตามเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ธุรกิจไฮเทคเหล่านี้คาดว่าจะมีสัดส่วนราว 70-80% ของขนาดเศรษฐกิจเมืองสวงอันในอนาคต


ด้วยการผลักดันของรัฐบาลกลาง สวงอันยังเป็นจุดนำร่องในการทดสอบและเปิดตัวนวัตกรรมของจีนเป็นระยะ ผมเคยคิดว่า รัฐบาลจีนจะใช้โอกาสที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ประกาศศักดาในหลายสิ่ง 

 

อาทิ “โอลิมปิกสีเขียว” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก และการเปิดให้ชาวต่างชาติได้ใช้เงินหยวนดิจิตัล (Digital Yuan) รวมไปถึงการสัมผัสกับความล้ำสมัยในระยะแรกของเมืองใหม่สวงอันแห่งนี้ แต่เสียดายด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้แผนงานนี้ต้องถูกเลื่อนไป


อย่างไรก็ดี ผมเชื่อมั่นว่า สวงอันจะถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องในการทดลองระบบ 6G ที่จีนวางแผนจะเริ่มใช้ในปี 2030 และเมื่อผนวกกับความพร้อมของแพลตฟอร์มดังกล่าว สวงอันจะสามารถรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไร้คนขับ เครื่องใช้ไฟฟ้า IoTs และอื่นๆ ได้ในอนาคต


สวงอันยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะรัฐบาลท้องถิ่นยังได้ลงทุนก่อสร้างสถานพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และบริการสาธารณะล้ำสมัย ตลอดจนรองรับการลงทุนจัดตั้งสำนักงานใหญ่/ภูมิภาคของธุรกิจข้ามชาติ สถาบันการเงิน และเชนสโตร์ โดยจนถึงปัจจุบัน กิจการกว่า 4,000 บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว


ไม่เพียงแต่กิจการในสวงอันเท่านั้นที่จะมีโอกาสใช้ประโยชน์จากบริการที่ทันสมัยและมีมาตรฐานดีดังกล่าว ด้วยการเดินทางที่สะดวกและคล่องตัว ผู้คนและธุรกิจในย่าน “จิงจินจี้” ยังจะสามารถใช้บริการรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ และบริการสาธารณะอื่นที่ยอดเยี่ยมของสวงอันได้ในอนาคต 


การพัฒนาสวงอันยังจะไม่หยุดเพียงแค่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่เราพบเห็นในเมืองยุคใหม่ แต่รัฐบาลท้องถิ่นยังให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการปรับภูมิทัศน์ทั้งระบบ เพื่อมุ่งหวังให้พื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวอื่น และแหล่งน้ำมีสัดส่วนถึง 70% ของพื้นที่โดยรวมของเมืองใหม่แห่งนี้ 


จีนผลักดันโครงการปลูกป่าให้เป็นปอดของเมืองอย่างจริงจัง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ปลูกต้นไม้ครอบคลุมพื้นที่ไปแล้วราว 190,000 ไร่ ในจำนวนนี้ เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 23 ล้านต้น ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ 


ในผังการออกแบบเมือง สวงอันกำหนดให้มีสวนสาธารณะ ทิวไม้ใหญ่ และป่าไม้ในแต่ละจุดในระยะที่ห่างกัน 300 เมตร 1,000 เมตร และ 3,000 เมตร ตามลำดับ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารที่พัก สำนักงาน และอื่นๆ ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีหลังนี้ สวงอันสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวถึงเกือบ 3 เท่าตัว หรือจาก 11% เป็นถึง 32% ของพื้นที่เมืองโดยรวม


ตามแนวคิดที่สร้างสรรค์ของการผลิตที่ไม่มีโรงงานในพื้นที่ โครงการระยะแรกยังก่อสร้างระบบบำบัดของเสียและของเหลือใช้แบบครบวงจรไว้ใต้ดิน และใช้พื้นที่เหนือพื้นดินเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งนอกจากช่วยลดกระทบต่อผู้คนในพื้นที่แล้ว ยังช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวโดยรวมได้มากขึ้นอีกด้วย


สวงอันจึงไม่เพียงแต่มีฐานเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพื้นที่ที่ผลิตอ๊อกซิเจนสูงอีกด้วย คราวหน้าผมจะพาไปคุยเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ประกอบส่วนอื่นของเมืองใหม่สวงอัน ...