จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (2)

22 พ.ค. 2565 | 07:20 น.
1.2 k

จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ฉบับ 3785 หน้า 4

โมเดลธุรกิจไม่ได้หยุดแค่นั้น จาก “การขายสินค้าและที่พัก” ธุรกิจก็ขยายโอกาสในการทำเงินสู่ “การเช่าช่วง” และ “การขายทักษะฝีมือ” แก่กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยเกษตรกรบางส่วนร่วมมือกัน “ให้เช่าช่วง” ที่ดินทางการเกษตรที่ตนเองถือครองสิทธิ์อยู่ โดยจัดสรรเทือกสวนไร่นาที่มีอยู่ให้คนเมืองสามารถเช่าพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกผักผลไม้ตามที่กำหนดได้ในระยะสั้น


ในทางปฏิบัติ “ผู้เช่า” สามารถชวนสมาชิกครอบครัวและคนสนิทมาร่วมกิจกรรมสัมผัสวิถีชีวิตทางการเกษตรในเชิงลึก เรียนรู้การเพาะปลูก แวะเวียนมาดูแล และเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดสารกลับไปบริโภค หรือนำไปเป็นของฝากที่มาจากน้ำมือและที่ดินของตนเองได้คุยโม้ได้อีกด้วย

เกษตรกร “มือสมัครเล่น” ยังสามารถได้รับประโยชน์จากเกษตรกร “มืออาชีพ” ผ่านบริการมากมาย อาทิ การให้คำแนะนำ และการช่วยเหลือด้านการเพาะปลูก (รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน) และดูแลผลผลิตในยามที่ “ผู้เช่า” ไม่อาจมาดูแลพืชผลในพื้นที่ด้วยตนเอง 


ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้เกษตรกรและคนในชนบทของจีนในยุคหลังมีลักษณะเป็น “เกษตรกรอัจฉริยะ” (Smart Farmers) ได้อย่างแท้จริง เกษตรกรเหล่านี้สามารถสร้างรายได้จากหลายทาง อาทิ การจำหน่ายผลผลิตทางเกษตร ค่าเช่าที่ดิน ค่าบริการดูแลพืชผล และอื่นๆ 

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เกษตรกรอัจฉริยะบางส่วนเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีในท้องถิ่น ที่เริ่มสร้างธุรกิจของตนเองในระหว่างศึกษาต่อ และก้าวออกมาบริหารกิจการเต็มตัวเมื่อจบการศึกษา ซึ่งเป็นการนำเอาความสามารถด้านการผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่เดิม ผสมผสานเข้ากับเด็กยุคใหม่ที่มีความรู้ด้านดิจิตัล แถมยังเป็นการเก็บรักษาพลังของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวให้อยู่ในพื้นที่ชนบทได้อีกด้วย

 

บริษัท “ยี่หม่าตังเซียน” (Yimadangxian) ที่ได้ชื่อมาจากสุภาษิตจีน ที่แปลว่า “นำหน้า” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของสตาร์ตอัพที่มาพร้อมกับโมเดลธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจดังกล่าว เย่ว เฉิงหลง (Ye Chenglong) ก่อตั้งกิจการนี้เมื่อปี 2019 หรือราว 4 เดือนก่อนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยออกแบบเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตร


มาถึงวันนี้ รูปแบบธุรกิจดังกล่าวปรากฏให้เห็นชัดเจนในหลายหมู่บ้านของจีน และทำให้คนในหมู่บ้านเหล่านั้นมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ขึ้นมาก 

 

ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินโมเดลธุรกิจนี้ที่หมู่บ้านเฉิงหยาง (Chengyang) ของมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) เมื่อปลายปี 2020 ครั้นพอเข้าช่วงหยุดยาววันแรงงานเมื่อปี 2021 หมู่บ้านดังกล่าวมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 6,000 คน โดยเฉพาะในวันที่ 3 พฤษภาคม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทำรายได้ถึง 280,000 หยวน


ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เปิดร้านอาหารหรือร้านจำหน่ายสินค้า ก็ออกมาตั้งบูธในบริเวณถนนคนเดิน หรือ ในบริเวณใจกลางหมู่บ้านเพื่อจำหน่ายผักและผลไม้ท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมในหมู่บ้าน


นายหยาง เสี่ยวชุน ประธานกรรมการหมู่บ้านกล่าวในประเด็นนี้ว่า “การประสานบริการอีคอมเมิร์ซเข้ากับกิจกรรมออฟไลน์ ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นับเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูหมู่บ้าน โดยดึงเอาจุดเด่นและศักยภาพจากมรดกทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเฉพาะที่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่มาใช้ประโยชน์” 


อาทิ การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเฉพาะของหมู่บ้าน ซึ่งอาจแนะนำโดยมัคคุเทศก์ที่ใช้ชีวิตในท้องถิ่นมาหลายสิบปี และการนำเอาผักผลไม้และสินค้าหัตถกรรมในท้องถิ่นออกมาจำหน่าย ซึ่งแตกต่างจากของหมู่บ้านอื่น 


ลักษณะเฉพาะดังกล่าวล้วนเป็นเสน่ห์ที่ช่วยสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว และนำไปสู่การสั่งซื้อสินค้าเกษตรเพื่อนำกลับบ้าน ซึ่งนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน 

                              จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (2)
โมเดลดังกล่าวทำให้ยอดขายสินค้าเกษตรของเฉิงหยาง ณ ปลายปี 2021 มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านหยวน และคนในหมู่บ้านมากกว่า 100 คนมีโอกาสทำงานใน “ฟาร์มแบ่งปัน” นับแต่เริ่มธุรกิจใหม่นี้เมื่อปลายปีก่อน
นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจนี้ยังอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น โดยมุ่งหวังเพื่อรักษาวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรเอาไว้ ควบคู่ไปกับการดึงเอาทรัพยากรที่เป็นจุดแข็งของท้องถิ่นมาประสานเข้ากับเทคโนโลยีด้านดิจิตัลและสีเขียว เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ซึ่งถือเป็นวิธีการในการเดินหน้าสู่เป้าหมายของความรุ่งเรืองร่วมกันในระยะยาว 


โครงการฟาร์มแบ่งปันของหมู่บ้านยังอยู่บนหลักการ “น้อยเพื่อมาก” (Less for More) ช่างฝีมือชั้นนำในพื้นที่ที่แต่เดิมต้องตรากตรำผลิตสินค้าของที่ระลึกทำจากไม้ไผ่ และสิ่งทอจำนวนมากเพื่อสร้างรายได้ก็เข้ามาร่วมโครงการ โดยผันมาเป็นครูสอนเทคนิคพื้นฐานในการทำของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องแก่นักท่องเที่ยว 


นอกจากเป็นกิจกรรมพิเศษในระหว่างที่นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยรักษาภูมิปัญญา และมรดกอันดีของหมู่บ้านเอาไว้ รวมทั้งยังเสริมสร้างประสบการณ์อันดี และแบรนด์ “หมู่บ้านเฉิงหยาง” ที่ลึกซึ้งอีกด้วย 


บางชุมชนมีชื่อเสียงด้านอาหาร นอกจากการเปิดร้านอาหารให้บริการแล้ว บางแห่งก็นำเอาผู้ปรุงอาหารชื่อดังของหมู่บ้าน มาสอนเคล็ดลับการปรุงอาหารจานเด็ดแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งตามมาด้วยการจำหน่ายวัตถุดิบในท้องถิ่น และสร้างความอิ่มเอมให้กับสมาชิกคนอื่นของครอบครัวที่อาจพลาดโอกาส พาลทำให้สมาชิกในครอบครัวพูดถึงหมู่บ้านและอาหารจานเด็ด และอยากไปเยือนในเวลาต่อมา 


อ่านถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงอยากไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเฉิงหยางเหมือนกับผมแล้ว ในโอกาสหน้า ผมจะนำเอาตัวอย่างที่น่าสนใจอื่นมาคุยกันต่อครับ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน


หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,785 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565