“ไห่หนาน”จากภาระกลายเป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (2)

01 พ.ค. 2565 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 23:17 น.
1.8 k

“ไห่หนาน”จากภาระกลายเป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3779

คำถามสำคัญที่ผุดขึ้นตามมาก็คือ Free Trade Zone และ Free Trade Port มีความเหมือนความแตกต่างกันอย่างไร และ FTP ไห่หนานมีความแตกต่างจาก FTP อื่นหรือไม่ อย่างไร ...


รัฐบาลจีนริเริ่มและจัดตั้ง FTZ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทดสอบการปฏิรูปตลาดสู่ระบบนวัตกรรมทางการตลาดผ่านการใช้ระบบ Negative Lists และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อาทิ การจัดหาบริการ ณ จุดเดียว (One-Stop Service) แก่ธุรกิจในพื้นที่ และโดยอาศัยประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับประเทศอื่น FTZ ยังถูกใช้เพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างของภาคการค้าบริการ

ขณะที่ FTP มักถูกใช้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จากการสำรวจขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization) พบว่า ทั่วโลกมีการจัดตั้ง FTP อยู่มากกว่า 2,000 แห่ง อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ และ ดูไบ 


อย่างไรก็ดี FTP ไห่หนานเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ภายใต้การปกครองในระบอบสังคมนิยมและมีลักษณะพิเศษของกลิ่นอายความเป็นจีน การพัฒนา FTP แห่งนี้ยังถูกคาดหวังว่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี และถูกใช้เพื่อทดสอบมาตรการอื่นของรัฐบาลจีนก่อนนำไปประยุกต์ใช้ในเมืองอื่นในจีนแผ่นดินใหญ่ 

แม้ว่า FTP แห่งอื่นในโลกจะถูกบริหารจัดการโดยกิจการเอกชน อาทิ สิงคโปร์ และดูไบ แต่จีนก็เปลี่ยนเอาลักษณะเฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์ และการบริหารจัดการโดยภาครัฐที่หลายฝ่ายประเมินว่าเป็น “จุดด้อย” ไปเป็น “จุดเด่น” ของ FTP ไห่หนาน

 

และเมื่อพัฒนาในระยะแรกจนถึงปี 2025 ไห่หนาน จะกลายเป็น FTP ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่รวมถึง 34,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่า FTP ชั้นนำของโลกอย่าเทียบไม่ติด เพราะ FTP สิงคโปร์มีขนาดราว 720 ตร.กม. ฮ่องกง 1,110 ตร.กม. และดูไบ 4,110 ตร.กม. 


นอกจากนี้ ในหลักการ FTZ ทั่วไปของจีนยังถูกกำหนดพื้นที่อยู่ในจุดตรวจศุลกากรในจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ FTP เป็นพื้นที่ท่าเรือที่อยู่นอกจุดตรวจของศุลกากร แต่ยังอยู่ในเขตอาณาของจีนและภูมิภาค ซึ่งเปิดโอกาสให้สินค้า เงินทุน และพาหนะขนส่งสามารถเคลื่อนย้ายเข้าออกได้อย่างเสรียิ่งขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าและส่งออกผ่าน FTP ไห่หนานถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าของ FTP สิงคโปร์ และดูไบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการดำเนินพิธีการศุลกากร FTP ไห่หนาน จึงเป็นเสมือน “ประตูบานใหญ่” สำหรับจีนในการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ทั้งในด้านการดึงดูดและจัดสรรปัจจัยการผลิตจากไห่หนาน และต่างประเทศ เข้าสู่ตลาดภายในประเทศ อาทิ ที่ดิน แรงงาน และ เงินทุน  


ในหลักการเดียวกับฮ่องกงและมาเก๊า สินค้าในอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยรัฐบาลท้องถิ่น ยังอาจได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียอากรนำเข้าเมื่อส่งต่อไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ หากสินค้าเหล่านั้นไม่มีส่วนผสมของสินค้านำเข้า หรือหากมีสินค้านำเข้าเป็นส่วนประกอบ ก็ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 30% ของราคาสินค้า 


นอกจากนี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลใน FTP ไห่หนาน ยังถูกลดลงมาอยู่ที่ 15% ซึ่งต่ำกว่าของสิงคโปร์และฮ่องกงอีกด้วย สิทธิประโยชน์ดังกล่าวทำให้ไห่หนานมีความได้เปรียบ ทั้งในแง่การดึงดูดแรงงานคุณภาพ ความได้เปรียบของสินค้าในการเข้าสู่ตลาดจีนในวงกว้าง และการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย


อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลจีนกำลังนำเอา FTP ที่เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ไปปรับใช้กับไห่หนานนั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมผู้คนต่างกังวลใจว่า รัฐบาลจีนจะยกระดับไห่หนาน ขึ้นมาทดแทนฮ่องกงในระยะยาว

 

แต่ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะยังคงรักษาสถานะและความสำคัญของฮ่องกงเอาไว้อย่างแน่นอน ดั่งคำกล่าวที่ว่า “มือที่มีครบห้านิ้วย่อมทรงพลังมากที่สุด” 
แม้ว่า FTP ไห่หนานจะยังอยู่ในระยะแรกของการพัฒนาในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนจีนมีเป้าหมายใหญ่ในหลายด้านรออยู่ ในความพยายามที่จะพัฒนา FTP ไห่หนาน ให้เกิดเป็นรูปธรรมในปี 2050

                                เมืองไห่หนาน ของจีน

รัฐบาลจีนได้เดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศในแต่ละด้านไปสู่อีกระดับหนึ่ง อาทิ โครงข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ศูนย์วิจัย และอื่นๆ รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนของจีนและต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาเป็นพลังเสริม ...


โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนของภาครัฐและเอกชนจีน และกิจการต่างชาติในไห่หนานได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาของมณฑลไห่หนาน รัฐบาลตั้งเป้าที่จะดึงดูดกิจการไฮเทคเข้าไปลงทุนในพื้นที่จากราว 1,100 รายในปี 2021 ให้เป็นมากกว่า 3,000 รายภายในปี 2025 การลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชนเหล่านี้ ส่งผลให้หัวเมืองของไห่หนานพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนผิดหูผิดตา


ปัจจุบัน ไห่หนานมีพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจกระจายอยู่ใน 10 เมืองกับอีก 10 เขต เมืองเอกและเมืองเศรษฐกิจหลักของไห่หนานได้แก่ ไหโค่ว (Haikou) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณปากแม่น้ำหนานตู๋เจียง เป็นแหล่งผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องจักรเครื่องด้านการเกษตร และยานยนต์ รวมทั้งการท่องเที่ยว และการช้อปปิ้ง


ในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยระดับนานาชาติ รัฐบาลท้องถิ่นยังได้ปรับโควต้าการซื้อสินค้าปลอดอากรของนักท่องเที่ยวแต่ละคนที่เดินทางไปเยือนไห่หนานมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 รัฐบาลได้เพิ่มโควต้าจาก 30,000 หยวนต่อปีเป็น 100,000 หยวนต่อปี ซึ่งทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา “เศรษฐกิจวงจรคู่” (Dual Circulation Economy)


นอกจากนี้ รัฐบาลยังเพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้าปลอดภาษีจาก 38 หมวดเป็น 45 หมวด และยกเลิกเพดานการยกเว้นภาษีที่ 8,000 หยวนต่อชิ้นสินค้าอีกด้วย รวมทั้งขยายความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวด้วยการอนุมัติจำนวนร้านสินค้าปลอดอากรอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นราว 10 แห่งกระจายอยู่ในไหโขว่ และเมืองเศรษฐกิจอื่นของไห่หนานในปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยอาจเคยไปเยือนไหโค่วในโอกาสที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้า “China International Consumer Products Expo” มาบ้างแล้ว และนับแต่ปี 2021 งานแสดงสินค้านี้ก็ถูกยกระดับจากระดับมณฑลสู่ระดับชาติไปเรียบร้อยแล้ว

 

นั่นหมายความว่า งานนี้จะใหญ่ มีสีสัน และคึกคักมากขึ้นในอนาคต บุคคลชั้นนำสามารถเดินทางไปเข้าร่วมงานประชุมโป๋วอ่าวฟอรั่มเพื่อเอเชีย (Boao Forum for Asia) และเยี่ยมชมงาน “Hainan Expo” นี้ไปพร้อมกัน


นอกจากนี้ ไหโคว่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เขตพัฒนานวัตกรรมชั้นแนวหน้าเจี่ยงตง (Jiangdong) เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนด้านนวัตกรรมอีกแห่งหนึ่งของจีนในอนาคต แม้กระทั่ง อาลีบาบา (Alibaba) ก็ยังได้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคขึ้นที่ฐานนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการนอกชายฝั่งแห่งชาติไหโคว่ (Haikou National Offshore Innovation and Entrepreneurship Base)


ตอนหน้า ผมจะพาไปรู้จักเมืองเศรษฐกิจอื่นของมณฑลไห่หนานกันครับ ...

 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน