จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (จบ)

11 มิ.ย. 2565 | 10:30 น.
1.8 k

จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก หน้า 4 ฉบับ 3790 โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เราได้เรียนรู้หลายสิ่งจากหลากหลายกรณีศึกษาการพัฒนาชนบทของจีน แต่ยังมีตัวอย่างดีๆ อีกมากมายที่เราสามารถเรียนลัดได้ และผมจะปล่อยให้ท่านผู้อ่านเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา โดยไม่ชี้นำว่าเราควรทำส่วนไหน หรือไม่ อย่างไร ... 


ในกรณีของจีน เราจะเห็นได้ว่าบทบาทของภาครัฐก็นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางได้กำหนดนโยบายหลักที่ต้องการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดมาตรการและผลักดันการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วจีน 

โดยอาศัยรัฐบาลระดับมณฑลเป็นกลไกในการอุดหนุนด้านงบประมาณและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ จีนลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการผลิตและการตลาด  

 

ขณะเดียวกันก็พยายามเติมเต็มทักษะความรู้ และเครือข่ายธุรกิจ รวมทั้งยังนำเอาแนวนโยบายใหม่ ของจีนในสนามใหญ่ อาทิ นวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพสูง หรือแม้กระทั่งแคมเปญ “รวยร่วมกัน” (Common Prosperity) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ชนบทในระยะหลัง 

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากข้อจำกัดทั่วไปและตัวแปรที่มีอยู่หลายด้านดังกล่าว จีนก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายเฉพาะ ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาทิ สภาพอากาศและลักษณะทางภูมิศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่ข้อจำกัดในบางด้าน


ต้าตี่โถว (Daditou) ถือเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กในเมืองลิ่วผานซุ่ย (Liupanshui) มณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ กอปรกับทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ ก็อยู่บนเทือกเขาที่มีระดับความสูง 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้การเดินทางของผู้คนและการขนส่งสินค้าเข้าออกพื้นที่ใช้เวลามาก และเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ใช่ว่าจีนจะยอมแพ้ง่ายๆ  

ผู้ประกอบการท้องถิ่นต่างรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเฉพาะทาง โดยได้รับการสนับสนุนอย่างสุดตัวจากนโยบายทางการเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายน 2017 สหกรณ์ดังกล่าวได้รับสินเชื่อมูลค่า 3.4 ล้านหยวน ในอัตราดอกเบี้ย 4.7% จากธนาคารเพื่อการเกษตรของจีน  


ระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่ปล่อยให้กับชุมชนชนบทถึงราว 3% จุด ทำให้สหกรณ์สามารถจัดซื้อวัว 100 ตัว และช่วยให้ 34 ครอบครัว สามารถหลุดพ้นจากความยากจน รวมทั้งทำให้เกิดการว่าจ้างแรงงานระยะยาวที่เพิ่มรายได้อีกถึง 20,000-30,000 หยวนต่อปี ขณะที่แรงงานชั่วคราวก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน


ระบบอีคอมเมิร์ซภาคชนบท ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยการสนับสนุนจากรัฐบาลแบบ “สุดลิ่ม” ทั้งระบบนิเวศ อาทิ ระบบการชำระเงินออนไลน์ที่เหมาะสม และโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สหกรณ์ได้รับโอกาสทางการตลาดที่ใหม่และใหญ่กว่าเดิมมาก ซึ่งในทางกลับกัน ก็ทำให้ผู้คนในพื้นที่ชนบทสามารถมุ่งเน้นกับด้านการผลิต และจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ 


นอกจากนี้ จีนยังพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตัลอย่างกว้างขวาง สวนอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีฉางซิง (Changxing) เมืองหูโจว (Huzhou) ซึ่งตั้งอยู่ในด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเจ้อเจียงที่มีชื่อเสียงในการเป็นพื้นที่นำร่องของหลายโครงการยุคใหม่ของจีน นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในโครงการนำร่องก็ได้แก่ การเลี้ยงแกะสายพันธุ์ท้องถิ่นจำนวนเกือบ 50,000 ตัวด้วยเกษตรกรจำนวนน้อยนิด  


ด้วยความพร้อมของระบบ 5G ทำให้เกษตรกรจีนในพื้นที่สามารถพัฒนาระบบดิจิตัลเพื่อติดตามการเลี้ยงแกะแบบเรียลไทม์ ทั้งการกำกับการให้อาหารสัตว์ และการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น รวมทั้งก๊าซแอมโมเนียและไฮโดรเจนซัลเฟอร์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์และระบบนิเวศ แถมยังสามารถปรับจูนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยเทคโนโลยีทางไกลได้ตลอดเวลา 


ระบบช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระงานด้านปศุสัตว์ได้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรแต่ละคนสามารถเลี้ยงแกะได้ถึง 3,000 ตัวในปัจจุบัน จากเดิมเพียง 10 ตัวในอดีต ซึ่งนำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ด้านการเกษตรขึ้นหลายเท่าตัว 

                                จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (จบ)
ในความพยายามที่ต้องการเติมพลังด้านดิจิตัล จีนได้ดำเนินโครงการระดับชาติที่นำเอาอีคอมเมิร์ซลงสู่พื้นที่ชนบทมากกว่า 1,400 เขต ในระหว่างปี 2014-20 ซึ่งปลดปล่อยศักยภาพของการบริโภคในรูปแบบของอินเตอร์เน็ตพลัส และการส่งเสริมการตลาดและการขายสินค้าและบริการในชนบทผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง 


ไค่วโซ่ว (Kuaishou) แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอสั้น ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการบรรเทาความยากจนให้กับคนในชนบท โดยจีนอาศัยแพลตฟอร์มนี้ในการทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในชนบทอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงวิธีการสร้างและประกอบธุรกิจ รวมทั้งการจัดหาเส้นทางข้อมูลและทรัพยากรการสร้างแบรนด์ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และเพิ่มเติมพลังสู่ความมั่งคั่งในพื้นที่ชนบท


จากข้อมูลของไค่วโซ่ว ในปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มนี้ได้สนับสนุนด้านข้อมูลแก่ผู้ประกอบการในชนบทมากกว่า 100 ราย และบ่มเพาะกิจการและสหกรณ์รวม 57 กิจการที่นำไปสู่การจ้างงาน 1,200 ตำแหน่ง และช่วยเพิ่มรายได้ให้กว่า 10,000 ครอบครัวในพื้นที่ชนบท  


ครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านฮัวผิง (Huaping) มณฑลยูนนาน ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ใช้ไค่วโซ่วในการทำไลฟ์สตรีมมิ่งจำหน่ายมะม่วง น้ำผึ้ง และผลผลิตอื่นในพื้นที่ วิธีการดังกล่าวช่วยเกษตรกรที่เพาะปลูกมะม่วงกว่า 70 ครอบครัว และคนเก็บน้ำผึ้งจำนวน 80 ชีวิตมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ 


คู่สามีภริยานี้ยังคิดไกล และพยายามสานต่อศักยภาพที่ท้องถิ่นมีอยู่ในเชิงรุก โดยวางแผนที่จะจัดตั้งสหกรณ์เพื่อสร้างแบรนด์ผลผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมการตลาดมะม่วงสดและแปรรูป และสินค้าอื่นในพื้นที่ในระยะยาว 


แนวทางการพัฒนาพื้นที่ชนบทของจีนที่ผมนำมาแลกเปลี่ยนกันในหลายตอนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ต้องการสะท้อนภาพตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนา แต่ยังอาจเป็นประโยชน์ต่อการเรียนลัด สานต่อ และนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน