สศช. ยันรอ 10 ปี GDP ไทยโตกระฉูด 5.8% ดันระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค

25 พ.ค. 2565 | 14:26 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 21:32 น.

สศช. กางแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคทั่วประเทศ รอ 10 ปี GDP ไทยโตกระฉูด 5.8% คาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนในพื้นที่รวมประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ไปดูแผนการพัฒนาแต่ละพื้นที่มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี 2565 - 2575 คาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนในพื้นที่รวม 3.1 แสนล้านบาท โดยหากทำสำเร็จน่าจะส่งผลให้ GDP ของประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 5.8% ต่อปี

 

“การทำระเบียงเศรษฐกิจทั้งหมด 4 ภาค จะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ โดยการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ โดยแต่ละแห่งจะมีรูปแบบการส่งเสริมแตกต่างกัน และกำหนดสิทธิประโยชน์ลงไปตามพื้นที่ เชื่อว่า เมื่อแผนเสร็จในช่วงเวลา 1-2 ปีจากนี้จะเริ่มมีเอกชนเข้าไปลงทุนในพื้นที่” นายดนุชา กล่าว

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สศช. ได้มีการศึกษาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อดูศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ การวางยุทธศาสตร์การพัฒนา และการออกแบบฉากทัศน์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจ ตามจุดเด่นของแต่ละภาค 

 

ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิต การจ้างงาน การบริโภคสินค้าและบริการ ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจที่เป็นจังหวัดหลัก และกระจายความเจริญไปยังพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจเชิงพื้นให้ฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับการกำหนดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ไว้ 4 ภาค 16 จังหวัด ดังนี้

 

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) 

  • พื้นที่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน 
  • แนวทางการพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืน ต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการดั้งเดิมที่มีศักยภาพ การสร้างฐานอุตสาหกรรมและบริการใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ล้านนา

 

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) 

  • พื้นที่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา 
  • แนวทางการพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคที่มีศักยภาพด้านการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ 
  • ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยเฉพาะโปรตีนแทนเนื้อสัตว์จากพืช และโปรตีนจากแมลง

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central-Western Economic Corridor: CWEC) 

  • พื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
  • แนวทางการพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาค ทั้งด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง 
  • เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 
  • เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์เพื่อให้ภาคกลาง-ตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและกระจายสินค้า 

 

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) 

  • พื้นที่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช 
  • แนวทางการพัฒนาเป็นจุดศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและระบบโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในฝั่งอันดามัน (BIMSTEC) เป็นประตูการค้า Western gateway 
  • เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง และยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ 

 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาฯ จะเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

 

โดยในการประชุมที่ผ่านมา กพศ. ได้มีมติสำคัญในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ของระเบียงฯ ใน 4 ภาค รวม 16 จังหวัด และได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนแล้ว