อีอีซีเดี้ยง ไฮสปีดอืด อู่ตะเภาอ่วม AOT ขยายสนามบิน-ฟรีโซนแข่ง BTS ร้องนายกฯ

18 ก.พ. 2565 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2565 | 13:55 น.
1.5 k

อีอีซีป่วน ไฮสปีด 3 สนามบิน ส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ 100% มีนาคม 2565 แย้มเจรจาชาวบ้านไม่ได้ 108 สัญญาผวาดึงเมืองการบินตะวันออกกระทบตาม ขณะ AOTขยายสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองแข่ง เอกชนคู่สัญญา เจ้าสัวบีทีเอส ร่อนหนังสือร้องบิ๊กตู่ อาจผิดสัญญา เหตุเจรจาได้ข้อสรุปก่อนลงนาม

 

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องประสบกับมรสุมครั้งใหญ่เมื่อเส้นเลือดใหญ่อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ที่มีบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือซีพี เป็นผู้รับสัมปทาน ไม่ลงนามรับมอบพื้นที่ก่อสร้างเพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คู่สัญญาไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้ง 100%

 

ประกอบกับการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจลดลงสถาบันการเงินต้องทบทวนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ กระทั่งเอกชนอาจมีเงื่อนไขต่อรองเพื่อให้รัฐช่วยสนับสนุนเช่นการขอผ่อนชำระค่าโอนสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

 

อู่ตะเภาออกอาการ

 

ห่างกันไม่นานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท บริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนลเอวิเอชั่น จำกัด คู่สัญญากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.) เริ่มออกอาการ เมื่อนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอู่ตะเภาฯ

 

ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และสกพอ. ถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยระบุว่า

จากกรณี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีนโยบายขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 และสนามบินดอนเมือง เฟส 3 อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่ฟรีโซนหรือเขตปลอดอากรแข่งทั้งที่ก่อนหน้าที่จะเช็นสัญญา (วันที่ 19 มิถุนายน 2563) ได้เจรจากับ สกพอ.

 

กระทั่งได้ข้อยุติและกำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาว่ารัฐจะไม่ขยายสนามบินและการทำเขตปลอดภาษีอากรแข่งเพราะจะยกระดับอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 พัฒนาพื้นที่โดยรอบโดยใช้เทคนิคดึงนักท่องเที่ยวนักลงทุนอยู่ในพื้นที่ในระยะยาวซึ่งภายในพื้นที่จะมีโรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์ช็อปปิ้ง ที่อยู่อาศัย คอมเพล็กซ์ เขตปลอดอากร ฯลฯ ขณะการเดินทางจะใช้เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

 

ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า “เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และก่อให้เกิดเหตุผ่อนผัน ในกรณีที่ภาครัฐต้องเยียวยา อันเนื่องมาจากการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง”

อีอีซีเดี้ยง ไฮสปีดอืด อู่ตะเภาอ่วม AOT ขยายสนามบิน-ฟรีโซนแข่ง BTS ร้องนายกฯ

 

ขู่!ผิดเงื่อนไขสัญญา

               

อย่างไรก็ตาม หากรัฐลงทุนแข่งขันกับเอกชนคู่สัญญาเสียเองผลที่ตามมาคือ อาจผิดเงื่อนไขสัญญา เอกชนไม่สามารถเดินตามกรอบสัญญาที่อีอีซีให้ไว้ได้ เพราะหากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองขยาย มีการพัฒนาเมืองการบินเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวอาจให้ความสนใจใช้สนามบินหลักมากกว่า

 

ส่งผลให้สนามบินแห่งที่ 3 ประสบปัญหาขาดทุนไร้ผู้โดยสารผลที่ตามมาคือ นักลงทุนที่เคยตัดสินใจร่วมทุนในโครงการอาจเปลี่ยนใจ ทำให้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงผลที่ตามาคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาครัฐ

 

เร่งส่งมอบพื้นที่

               

ขณะเดียวกันยังพบว่าการส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงานเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้าง (NTP) ยังเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะต้องพัฒนารันเวย์หรือทางวิ่งขึ้น-ลงเครื่องบินก่อนคาดว่าอาจจะขยับออกไปปลายปี 2565 จากเดิมจะออก NTP ได้ประมาณปลายปี 2564 และขยับมาเป็นช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

 

สกพอ.เร่งช่วยเหลือ

               

แหล่งข่าวจาก สกพอ. ยอมรับว่า บริษัทอู่ตะเภาฯมีหนังสือลงวันที่ 25 มกราคม 2565 ขอให้ สกพอ. เร่งพิจารณาเรื่องการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองขณะเดียวกัน ยังมีการเสนอขอสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอเอกชนว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะการพัฒนาพื้นที่บริเวณอู่ตะเภา ตามสัญญา ต้องพัฒนาพื้นที่ทั้ง 6,500 ไร่ เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุนเข้าพื้นที่

 

ไฮสปีดไม่มาอ่วมแน่

               

อีกปมปัญหาที่บริษัทอู่ตะเภาเกรงจะเกิดผลกระทบคือความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แหล่งข่าวในวงการรับเหมาก่อสร้างประเมินสถานการณ์ว่า หากไฮสปีดมีความล่าช้า หรือ อาจจะติดปัญหาก่อสร้าง เพราะส่งมอบพื้นที่ของ รฟท. ไม่ครบ จะส่งผลกระทบต่อสนามบินแห่งที่ 3 หรืออู่ตะเภาและเมืองการบินตามมา

 

ติดเวนคืน 108 สัญญา

               

สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน แหล่งข่าวจาก รฟท. ระบุว่า ยืนยันว่าปัจจุบันยังติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดอีอีซี 108 สัญญาช่วงตั้งแต่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังสนามบินอู่ตะเภา ที่เจ้าของที่ดินไม่ย้ายออก สำหรับทางออกรฟท.ใช้ เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562

 

เข้าครอบครองพื้นที่วางหลักทรัพย์ ไว้กับสถาบันการเงิน รวมทั้งพื้นที่ที่ยังติดปัญหาที่ดินมรดกไม่สามารถติดต่อเจ้าของที่ดินหรือผู้จัดการกองมรดกได้ ทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาอีกทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ติดภาระหนี้กับสถาบันการเงินอีกจำนวนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 ไร่

 

กระจายตลอดแนวเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย คาดว่ากำหนดระยะเวลาส่งมอบพื้นที่ ภายในเดือนมีนาคม 2565 อาจไม่ได้ครบทั้ง 100% ซึ่งรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับเอกชน หลังที่ผ่านมา รฟท. ได้จากเลื่อนการส่งมอบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564

 

การเมืองผันผวน

               

นอกจากเกิดการระบาดโควิดภายหลังจากเช็นสัญญาโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซี ที่รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือภาคเอกชนแล้ว ยังพบว่าขณะนี้เกิดความผันผวนทางการเมืองรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในช่วงขาลงและมีแรงกระเพื่อมมา โดยตลอดว่าอาจจะมีการยุบสภาในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือไม่ ซึ่งอาจ สร้างความกังวลไม่น้อยกับนักลงทุนในพื้นที่เขตอีอีซีแห่งนี้ว่าในที่สุดแล้วจะสามารถไปต่อได้หรือไม่