เร่งปิดดีล ส่งมอบพื้นที่ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

28 ม.ค. 2565 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 22:56 น.

"อีอีซี" เคลียร์ชัดแผนส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 2 ช่วง ภายในเดือนก.พ.-มี.ค.65 ลุยเจรจาคลังแก้สัญญาร่วมทุนเลื่อนจ่ายสิทธิแอร์พอร์ต ลิงก์ 3 เดือน ฟากรฟท.เล็งหารือแบงก์ช่วยผู้บุกรุก หลังติดจำนองที่ดิน หวั่นกระทบค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยใหม่

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด (ซีพี) ไม่กล้ารับสัญญาเริ่มดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) เพราะไม่มั่นใจภาครัฐส่งมอบพื้นที่ครบ 100% ได้ทันตามสัญญาที่กำหนดไว้ว่าเอกชนต้องดำเนนิการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นั้น ทางอีอีซียืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะในปัจจุบันพื้นที่บางส่วนภาครัฐได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ราว 98% เพื่อให้เอกชนเข้าพื้นที่ดำเนินการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาทางออกและทางเลือกให้กับเอกชนดำเนินการโครงการฯ 

 

 

 


“ปัจจุบันที่ประชุมได้ข้อสรุปบางส่วนในการหารือดำเนินการโครงการฯแล้ว แต่เบื้องต้นต้องนำผลการหารือเสนอต่อกระทรวงคลังพิจารณาก่อน  ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้แนวทางใดในการดำเนินการ เนื่องจากเราไม่ทราบว่าทางกระทรวงคลังจะเลือกใช้แนวทางใดในการพิจารณา คาดว่าจะให้เอกชนขอเลื่อนการจ่ายสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไปเป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากเอกชนให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลง  เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้การเลื่อนจ่ายสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกระบวนการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ”

รายงานข่าวจาก สกพอ. กล่าวต่อว่า  สำหรับแผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง  170 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันภาครัฐได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ อยู่ที่ 98% ซึ่งเหลือส่งมอบพื้นที่ราว 2% ให้กับเอกชนคู่สัญญา ขณะนี้ติดปัญหาในการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากมีผู้บุกรุกบางส่วนติดจำนองที่ดินไว้กับสถาบันการเงินประมาณ 3-4 สัญญา จาก 100 สัญญา ซึ่งจะครบกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถครอบครองสิทธิที่ดินได้ตามกฎหมาย ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงแม้ว่ารฟท.ได้ดำเนินการจ่ายชดเชยค่าเวนคืนที่ดินแล้ว แต่ผู้บุกรุกต้องนำเงินค่าชดเชยเวนคืนที่ดินจากรฟท.คืนให้กับสถาบันการเงิน เป็นเหตุให้ผู้บุกรุกไม่มีรายจ่ายเพียงพอในการหาที่อยู่อาศัยใหม่ เบื้องต้นรฟท.อยู่ระหว่างหาแนวทางเจราจากับสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้บุกรุก  คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ได้ครบตามสัญญา 100% ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 

 

 


ที่ผ่านมาได้การผ่อนชำระที่มีการศึกษาไว้ เป็นการชำระค่าสิทธิร่วมทุนพร้อมดอกเบี้ยและมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) อยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 10,671.090 ล้านบาท ประมาณ 1,034.373 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 6 งวด รวม 6 ปี  กำหนดในปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% และปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7% ซึ่งจะเริ่มจ่ายเมื่อไหร่ต้องหารือในรายละเอียดของผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ปริมาณผู้โดยสารเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ


 

ส่วนความคืบหน้าแผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 10 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใกล้แล้วเสร็จ แต่ยังติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา (ไฮสปีดไทย-จีน) เบื้องต้นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มีมติให้รฟท.ดำเนินการเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างบริเวณพื้นที่ทับซ้อนของโครงการไฮสปีดไทย-จีน โดยเร่งเอกชนให้ดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เร็วขึ้นกว่าแผนที่กำหนดไว้ ปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างภายในเดือนมีนาคม 2565 จากเดิมตามสัญญากำหนดให้ภาครัฐส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ภายในเดือนตุลาคม 2566 

เร่งปิดดีล ส่งมอบพื้นที่ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

 

 

“หากภาครัฐรอดำเนินการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ภายในเดือนตุลาคม 2566 ตามแผนจะทำให้การก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ล่าช้าไปด้วย ขณะที่พื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) ยังติดปัญหาการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เนื่องจากมีปัญหาการื้อย้ายสาธารณูปโภค 2 จุด ประกอบด้วย ระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองสามเสนของทางกรุงเทพมหานคร และท่อขนส่งน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) คาดว่าจะส่งมอบในช่วงเดือนตุลาคม 2𝟓𝟔𝟔 ทำให้ภาครัฐจะเร่งดำเนินการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ครบ 100% ให้กับเอกชนคู่สัญญาภายในต้นปี 2565 พร้อมกับการส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา เพื่อไม่ให้โครงการฯ มีความล่าช้ากว่าเดิม หลังจากภาครัฐส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จ ทั้งนี้เอกชนต้องดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับมอบภายใน 45 วัน ก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ”