รฟท.เล็งศึกษาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เฟส2 วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน

31 ม.ค. 2565 | 18:03 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 02:10 น.

รฟท.เดินหน้าศึกษาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 2 ช่วงสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน ภายในต.ค.65 เล็งเปิดประมูลปี 69 ดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพี เปิดทางซีพีให้สิทธิ์สัมปทานรายเดิม

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า  สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทางรวม  190 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 1แสนล้านบาท เบื้องต้นรฟท.จะนำร่องดำเนินการก่อสร้างแบ่งเป็นช่วง โดยช่วงแรก คือช่วงอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 1.4 หมื่นล้านบาท  เนื่องจากรัฐบาลต้องการเร่งรัดให้มีการพัฒนาโครงการให้ รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 วงเงิน 100  ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 2ปี  (ปี 2566-2567) เพื่อใช้ในการจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบ ในช่วงเดือน ต.ค.2565  หลังจากนั้นจะจัดทำรายงานแผนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จะใช้เวลาในการศึกษาราว 12 เดือน และเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.พิจารณาอนุมัติได้ในปี 2567 จากนั้นเสนอขอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการในปี 2568 และเปิดประมูลในปี 2569 

 

 

 

“สำหรับการดำเนินโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 2 ปัจจุบันรฟท. จะต้องเจรจากับบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด หรือซีพี ผู้ได้รับสัมปทานไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 1 ก่อนว่ามีความสนใจลงทุนก่อสร้างเฟส 2 ช่วงอู่ตะเภา-ระยอง  หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาสัมปทานไฮสปีดเฟสที่ระบุให้ รฟท. ให้สิทธิเจรจากับผู้ลงทุนรายเดิมก่อน ทั้งนี้ หากรายเดิมไม่สนใจ รฟท.จึงจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี Gross cross  หากจะเปิดประมูลหาเอกชนร่วมทุนจะต้องมีการเปิดประมูลตลอดเส้นทาง 190 กม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของเอกชนรายใหม่ โดยจะ ให้สัมปทานยาว 50 ปี” 

ทั้งนี้จากการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางเลือกทั้ง 5 เส้นทาง พบว่าแนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประชาชนในพื้นที่  โดย รฟท. จะนำแนวเส้นทางเลือกที่ 2ไปดำเนินการออกแบบรายละเอียดต่อไปเบื้องต้นต่อไป

 

 

 

 

สำหรับแนวเส้นทางเลือกที่เส้นทางที่ 2 จาก 5 เสน้ทางที่มีการศึกษา  โดยเส้นทางที่ 2 จะมีจุดเริ่มต้นโครงการจะเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภา ผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข3574 (ระยอง-บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอย ประมาณ 3 กิโลเมตรจากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อ.แกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กิโลเมตร วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วงผ่านอ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอ.เมืองจันทบุรี อ.มะขาม อ.ขลุง จ.จันทบุรี เข้าสู่อ.เขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบนทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราดประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร
 

 อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะช่วย ลดระยะเวลาการเดินทาง สู่จังหวัดหลักตามแนวเส้นทาง รวดเร็วกว่ารถยนต์ เชื่อมต่อสะดวก ส่งต่อนักท่องเที่ยวสู่อีอีซี รองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจจากทุกภูมิภาคของไทย และจากต่างประเทศผ่านสนามบิน เดินทางต่อด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปยังจังหวัดต่างๆ ใน อีอีซีโดยไม่ต้องเจอปัญหาติดขัดในกรุงเทพ รวมทั้งขยายโอกาสธุรกิจด้านการค้า การท่องเที่ยวให้กับธุรกิจท้องถิ่น