รุกแก้สัญญา”ไฮสปีดเทรน” อุ้มทุนบิ๊กเอกชน อ้อนรัฐร่นจ่ายเงินอุดหนุน-อ้างเซฟดอกเบี้ย

25 ม.ค. 2565 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 00:30 น.
1.3 k

“สกพอ.-รฟท.” ซุ่มเงียบเจรจาแก้สัญญาสัมปทานไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน หลังประสบผลสำเร็จยืดจ่าย "ค่าต๋ง"รับโอนแอร์พอร์ตลิงก์หมื่นล้าน ล่าสุดรุกคืบเจรจาอ้อนรัฐร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนแสนล้าน จากที่ต้องเปิดให้บริการมาเร็วขึ้น หลังเจรจาแหล่งเงินทุนโครงการไม่ลงตัว ด้านกลุ่มBSR คู่ชิงดำจ้องเขม็งหาช่องฟ้องกราวรูด!

 หลังจากมีกระแสข่าวสะพัดเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ที่บริษัทเอกชนรายใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประสบปัญหาในการระดมทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินกู้กว่า 1.17 แสนล้านบาท ทำให้มีกระแสข่าวว่า ผู้บริหารกลุ่มทุนบิ๊กเอกชน กำลังรุกคืบขอเจรจาให้รัฐบาลและรฟท.ร่นเวลาการจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างระบบงานโยธาในโครงการ จำนวน 117,000 ล้านบาทก่อนเปิดให้บริการมาโดยตลอดนั้น

 

 


 แหล่งข่าวในวงการรับเหมก่อสร้างขนาดใหญ่ กล่าวว่า ล่าสุดมีความชัดเจนออกมาแล้วว่า ทางบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ได้มีการยื่นข้อเสนอ และเปิดการเจรจาขอให้รัฐ และรฟท. ร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างโครงการขึ้นมาจริง หลังจากประสบผลสำเร็จในการแก้ไขสัญญายืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ไปแล้ว

 

 

โดยในการประชุมร่วม 3 ฝ่ายที่ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเอกชนผู้รับสัมปทาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากที่ประชุมจะมีการหารือ การแก้ไขสัญญาโครงการเพื่อยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่บริษัทเอกชนได้รับจากวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 แล้ว 

 

 

 

ยังมีการหารือกรอบเงื่อนไขข้อตกลงร่วมที่จะนำไปสู่การร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนการก่อสร้างระบบงานโยธาของภาครัฐให้เร็วขึ้นจากสัญญา โดยอ้างเพื่อแลกกับการให้บริษัทเอกชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท


 

นายนิรุฒ  มณีพันธ์  ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ออกมายอมรับว่า คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายได้มีการหารือร่วมกันถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ที่มอบหมายให้ รฟท.และสกพอ.ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว 

 

 


รฟท.ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อวางกรอบข้อกำหนดดำเนินการโดยมีระยะเวลาการเจรจา 3 เดือน นับจากวันที่ 24 ต.ค.64  ขณะนี้การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระเบียบและข้อกฎหมาย ซึ่งต้องมีการนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่างแก้ไขสัญญา ทั้งอัยการสูงสุด และครม. จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาใน MOU ออกไปอีก 3 เดือน 

 

 


นอกจากนี้ยังได้หารือปัญหาการก่อสร้างโครงการในส่วนที่ซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง  ซึ่งมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งคณะกรรมการ กพอ.มีมติให้มาดำเนินการแก้ไข โดยไม่เพิ่มภาระของภาครัฐ ซึ่งต้องมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อสรุปรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญา 

 

 

 


รายงานข่าวระบุว่า ปัญหาโครงสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีปัญหาทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น กพอ.ได้ขอให้รฟท.เจรจากับเอกชนคู่สัญญา เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในส่วนของรถไฟไทย-จีน ตามมาตรฐานจีน เพื่อรองรับความเร็ว 250 กม./ชม. ส่วนโครงสร้างแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้ดำเนินการตามแบบและเงื่อนไขเดิม  
 

ก่อนหน้านี้ คณะทำงาน รฟท.ได้ประเมินโครงงสร้างงานโยธาของโครงสร้างร่วมดังกล่าว จะมีค่าก่อสร้างรวม 24,085 ล้านบาท (ไม่รวมระบบรางรถไฟ) แบ่งเป็น ส่วนก่อสร้างของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่เอกชนคู่สัญญาต้องรับผิดชอบ 11,006 ล้านบาท และโครงสร้างของโครงการรถไฟไทย-จีน 3,896 ล้านบาท จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากกรอบประมาณอยู่ 9,200 ล้านบาท  ซึ่งตามแนวทางของ กพอ.ให้ รฟท.ดำเนินการ โดยไม่เพิ่มภาระงบประมาณนั้น ทำให้ต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพื่อขอให้เอกชนแบกรับภาระส่วนนี้ไป แลกกับการที่รัฐจะร่นระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยการก่อสร้างให้เร็วขึ้น
 

 

 

 

ทั้งนี้ตามเงื่อนไข TOR และสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟฯ จะจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างระบบงานโยธาตามมติ ครม.จำนวน 117,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัทพร้อมดอกเบี้ย 2.375%  หลังการเปิดให้บริการโครงการไปแล้ว (ในปีที่ 6 ของสัญญา) และทยอยจ่ายจนครบภายในระยะเวลา 10 ปี  แต่คณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายที่ได้มีการหารือร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินของอีอีซี เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ รฟท.จะเลื่อนชำระค่าก่อสร้างให้เร็วขึ้นจากเดิมมาเป็นปีที่ 3 ของสัญญาก่อนเปิดดำเนินการ เพื่อแลกกับการให้เอกชนแบกรับค่าก่อสร้างในส่วนที่รัฐคือ รฟท.ต้องลงทุน และยังจะช่วยลดดอกเบี้ยค่าก่อสร้างลงอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นแนวทางการแก้ไขการร่วมลงทุน ที่สามารถแก้ปัญหาการก่อสร้างช่วงทับซ้อนที่รถไฟไทย-จีน ที่มีค่าก่อสร้างเพิ่ม 9,200 ล้านบาท  โดย รฟท.ไม่ต้องของบประมาณเพิ่มอีกด้วย

 

 

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทางด้านกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์(BSR) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมประมูลชิงดำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกำลังติดตาม ความพยายามแก้ไขสัญญาครั้งนี้ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีข่าวสะพัดมาโดยตลอดว่า หลังเซ็นสัญญาโครงการนี้ บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานประสบปัญหาในการระดมทุนเพราะไม่สามารถเจรจาปิดดีลกับสถาบันการเงินที่จะให้การสนับสนุนโครงการได้ ทำให้ไม่สามารถจะระดมทุนได้ตามกำหนด จึงมีความพยายามขอแก้ไขสัญญาเพื่อดึงเงินอุดหนุนจากภาครัฐตามมติ ครม. เข้ามาทดแทน