“อีอีซี” แจงแบงก์เบรกปล่อยกู้ซีพี สร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

26 ต.ค. 2564 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 02:36 น.
1.4 k

“อีอีซี” ชี้แจงข่าวลือ หลังมีกระแสแบงก์ไม่อนุมัติปล่อยกู้เงินให้ซีพี สร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ยืนยันไม่ถึงขั้นต้องทำสัญญากู้ รอรฟท.ไฟเขียวออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน ภายในเดือน มี.ค.65 คาดชงแบงก์กู้เงิน 1 แสนล้าน ภายในเดือนพ.ย.65

นายคณิศ  แสงสุพรรณ  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติการปล่อยกู้ให้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด หรือซีพี ที่ปัจจุบันได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท  เอรา  วัน  จำกัด” เพื่อดำเนินโครางการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น  

 

ขณะนี้รฟท.ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 160 กิโลเมตร  แล้ว 98.11%  เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้บริษัท เอเชีย เอรา  วัน จำกัด ดำเนินการ ซึ่งเอกชนคู่สัญญาได้ทยอยเข้าดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2563 เช่น การก่อสร้างถนน ก่อสร้างสะพาน บ้านพักคนงาน ฯลฯ โดยรฟท.ต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพิ่มเติมอีก 1.89% ภายในเดือนมกราคม 2565

 

หลังจากนั้นเอกชนจะได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มเงิน (NTP) ปัจจุบันโครงการฯ ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชนคู่สัญญาจะต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อดำเนินโครงการฯ เนื่องจากต้องรอการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ออกหนังสือแจ้งให้เริ่ม (NTP) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมีนาคม 2565 ส่วนการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน คาดว่าเอกชนต้องดำเนินการขอกู้วงเงิน ราว 1 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างช่วงสถานีลาดกระบัง-สถานีอู่ตะเภา 

สำหรับสัญญาร่วมลงทุนระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะทำสัญญาสินเชื่อโครงการฯกับสถาบันการเงิน ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ดังนั้นขั้นตอนการทำสัญญาสินเชื่อต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 หากถึงช่วงทำสัญญาสินเชื่อดังกล่าวคาดว่าสถานการรณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คงคลี่คลายแล้ว