ซีพีฮึ่ม! จ่อล้มไฮสปีด หวั่นรฟท.เวนคืนสะดุด ขอสิทธิประโยชน์เพิ่ม

10 ก.พ. 2565 | 08:38 น.
9.8 k

เอเชีย เอรา วัน เครือซีพีฮึ่ม! ไม่รับมอบพื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน หลังเวนคืนสะดุด เหลือ 5% รฟท.ขยายเวลาส่งมอบพื้นที่ไปมี.ค. 65 ลุยร่อนหนังสือ ถึง สกพอ.-รฟท. ย้ำชัดต้องเคลียร์สมบูรณ์ 100 % ตามกรอบสัญญา ส่งสัญญาณจ่อเลิกสัมปทาน รัฐผิดสัญญา พร้อมขอสิทธิประโยชน์เมืองมักกะสัน

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ระยะทาง 220 กิโลเมตร เส้นเลือดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เริ่มสั่นคลอนเมื่อบริษัทเอเชีย เอรา วันจำกัด หรือ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คู่สัญญาร่วมลงทุนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่รับมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการไฮสปีดตามที่ รฟท.ส่งมอบตามกำหนดสัญญาวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยให้เหตุผลว่า การเวนคืนไล่รื้อผู้บุกรุกยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100%

 

แม้ว่า รฟท. จะใช้อำนาจแห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เข้าครอบครองพื้นที่ วางหลักทรัพย์ ไว้กับสถาบันการเงินสำหรับเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ ไม่ยอมรับการเวนคืนแล้วก็ตาม แต่เอกชนคู่สัญญาเกิดความไม่สบายใจส่งผลให้รฟท.ต้องขอขยายเวลาส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ 5% จาก 700 สัญญา ที่กระจายตลอดแนวช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภาออกไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565

 

ร่อนหนังสือสัญญาณเตือน

 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ราว 2-3 สัปดาห์บริษัทเอเชีย เอรา วัน ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ รฟท. โดยสรุปในตอนหนึ่งว่า “ถึงเวลาส่งมอบพื้นที่แล้ว ให้ รฟท. ส่งมอบพื้นที่ตามกำหนด อย่างสมบูรณ์ 100%” หนังสือเตือนดังกล่าวสะท้อนว่า หากรัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามเงื่อนไข เป็นไปได้หรือไม่ว่าเอกชนคู่สัญญาจะยกเลิกสัมปทานโครงการไฮสปีดอีอีซี

 

ประกอบกับสถานการณ์เปลี่ยนเกิดโควิดการประเมินความคุ้มค่าโครงการถูกปรับให้ลดต่ำลงอีกทั้ง สถาบันการเงินเข้มงวดแผนปล่อยกู้โครงการเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ขณะข้อเสนอที่ต้องการให้รฟท.สนับสนุนเม็ดเงินตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ สกพอ. ยืนยันว่า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเท่านั้น

ซีพีฮึ่ม! จ่อล้มไฮสปีด หวั่นรฟท.เวนคืนสะดุด ขอสิทธิประโยชน์เพิ่ม

ขู่กลับ!เอกชนจ่อผิดสัญญา

 

ปมร้อนดังกล่าว แหล่งข่าวจากสกพอ. ระบุว่า ได้ทำความเข้าใจกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน พร้อมรับรองการส่งมอบพื้นที่ โดยระบุว่าไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดส่งมอบพื้นที่ได้เต็ม 100% ในทางกลับกัน รฟท. สามารถเคลียร์พื้นที่ได้แล้ว 96% ส่วนพื้นที่ที่เหลือรัฐจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบหากเกิดปัญหา รวมถึงการเข้าไปแก้ปัญหากรณีพื้นที่มักกะสัน 150 ไร่ ที่เอกชนท้วงติงว่า ติดปัญหาเรื่องระยะถอยร่นค่อนข้างมากที่เกิดจากบึงเสือดำ พาดผ่านกลางที่ดินทำให้พื้นที่ก่อสร้างลดลง แต่ทั้งนี้ยังยืนยันว่าเอกชนยังมองที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น “ทองคำ” เพราะสร้างความคุ้มค่าให้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการให้บริการเดินรถไฮสปีดอีอีซี

แหล่งข่าวจาก สกพอ. ยังระบุอีกว่า ในทางกลับกัน เอกชนคู่สัญญาอาจจะผิดสัญญาเสียเอง จากการเสนอขอแบ่งจ่ายค่ารับโอนสิทธิ์บริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ทั้งที่ในสัญญากำหนดให้จ่ายก้อนเดียว 10,671 ล้านบาท ที่สำคัญเวลานี้ รฟท. ยังไม่ได้แก้ไขขยายสัญญาทำบันทึกข้อตกลงให้ ทำให้บริษัทเอเชีย เอรา วัน มีท่าทีที่อ่อนลง

  

“การล้มโครงการ ไฮสปีด โดยเอกชนขอยกเลิกสัญญา ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐไม่ได้จ้างงานแบบจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐผิดสัญญาสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่โครงการไฮสปีดอีอีซี เป็นลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาต้องร่วมมือกันแก้ไข”

 

ผวาโครงการฟันหลอ

  “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม บริษัท เอเชียเอราวัน ถึงเหตุผลของการไม่รับมอบพื้นที่ที่ยังมีบ้านเรือนประชาชนกระจายอยู่ตลอดแนว ซึ่งได้รับคำตอบว่า มีความกังวลสูงและยังยืนยัน รฟท. ต้องส่งมอบพื้นที่แบบสมบูรณ์ 100% ที่ผ่านมา รฟท. มักรายงานความก้าวหน้าในการเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดอีอีซีว่าเหลือติดเวนคืนเพียง 1-2% มาโดยตลอด แต่ 1-2% กระจายตลอดแนว คือปัญหาใหญ่เพราะไม่สามารถก่อสร้างและส่งมอบโครงการเป็นท่อนฟันหลอได้  

 

ขอสิทธิประโยชน์เมืองมักกะสัน

แหล่งข่าวจากบริษัท เอเชีย เอรา วัน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ว่าจ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด  สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน ผลตอบแทนทางการเงิน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสิทธิประโยชน์ที่จะต้องเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อนำผลศึกษาที่ได้ไปใช้ในการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน และขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน

 

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่บริษัทเอเชีย เอรา วัน ได้ยื่นเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาทภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญานั้น ผลตอบตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าที่เคยมีการศึกษาไว้ในช่วงแรก โดยเฉพาะการลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้นไม่คุ้มค่าการลงทุนหากรัฐบาลไม่มีสิทธิประโยชน์หรือมาตรการต่างๆออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติม

 

โครงการนี้สิ่งที่จะทำให้บริษัทเกิดความคุ้มค่าการลงทุนได้คือการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนันสนุนบริการรถไฟความเร็วสูง บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ประมาณ 150 ไร่ ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานาคร กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ประมาณ 25 ไร่

 

บริษัท เอเชีย เอรา วัน วางแผนพัฒนาพื้นที้่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ประมาณ 150 ไร่ให้เป็นมิกซ์ยูส หรือโครงการที่ใช้ที่ดินแบบผสมผสานมีทั้งศูนย์การค้า ออฟฟิศสำนักงาน โรงแรมและที่คอนโคมีเนียม ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

 

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะการลงทุนโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าการลงทุนกว่า 1.1 แสนล้านบาท ที่ปรึกษาจึงเสนอให้บริษัทยื่นข้อเสนอให้ รฟท. ในฐานคู่สัญญา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แจ้งให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ

 

“เช่น การพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน บริษัทมีโครงการตั้งร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และหน่วยงานอื่นๆ ก็จะต้องเข้ามาให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้วย หรือกรณีที่นักลงทุนจะเข้าเช่าพื้นที่ในโครงการก็ควรมีสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนเหล่านี้ด้วย เพื่อให้โครงการเกิด เพราะต้องไม่ลืมว่ารถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนเยอะ ถ้าไม่มีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมโครงการอาจไม่เกิด เพราะธนาคารอาจไม่ปล่อยเงินกู้ให้ หรือไม่มีนักลงทุนเข้ามาร่วมทุน”

 

สำหรับการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขสัญญาใหม่ เพราะในสัญญาเดิมได้เขียนไว้ครอบคลุมแล้วว่ารัฐบาลสามารถให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่บริษัทได้

 

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” พยายามติดต่อนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี ถึงความชัดเจนกรณีดังกล่าว แต่ ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด