หนุนกฟผ.เพิ่มโซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้า 5 พันเมก นำร่องใหญ่สุดที่เขื่อนสิรินธร

15 พ.ย. 2564 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2564 | 21:57 น.

กมธ.พลังงาน หนุน กฟผ.ทำโซลาร์ลอยน้ำ 5 พันเมกะวัตต์ สร้างความความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ระบุเขื่อนสิรินธรที่เดียวช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เกือบ 5 หมื่นตัน ด้าน บี.กริม เพาเวอร์-เอ็นเนอยี่ ไชน่า เตรียมยื่นประมูลโครงการใหม่

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการการพลังงาน(กมธ.) นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ รองประธานคณะกรรมาธิการ, นายสมเกียรติ วอนเพียร รองประธานคณะกรรมาธิการ, นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ เลชานุการคณะกรรมาธิการและคณะ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมชมโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 45 เมกะวัตต์(MW) ก่อนดำเนินการต่อในเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. ให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์  ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) โดยจะสามารถเริ่มดำเนินการปล่อยกระแสไฟได้ในเดือนธันวาคม พร้อมกับเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมโซลาร์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ต้นปีหน้า  

 

ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาโครงการแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความยาว 415 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด คาดจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 500 ล้านบาท

 

หนุนกฟผ.เพิ่มโซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้า 5 พันเมก นำร่องใหญ่สุดที่เขื่อนสิรินธร

 

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธร เป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของ กฟผ. ที่ได้นำพลังงานหมุนเวียนสองประเภทจาก “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” มาผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน หรือเรียกว่า ระบบไฮบริด เพื่อลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่การผลิตไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เป็นการพัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องยาวนาน และเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

 

หนุนกฟผ.เพิ่มโซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้า 5 พันเมก นำร่องใหญ่สุดที่เขื่อนสิรินธร

 

โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำฯ ดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 760 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ แผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทุ่นลอยน้ำเป็นชนิด HDPE (High Density Polyethylene) เป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โครงการแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 47,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 37,600 ไร่ นอกจากนี้ การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และทุ่นลอยน้ำที่ปกคลุมผิวน้ำ ยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลบ.ม.ต่อปี

 

หนุนกฟผ.เพิ่มโซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้า 5 พันเมก นำร่องใหญ่สุดที่เขื่อนสิรินธร

 

“โครงการโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. ที่เขื่อนสิรินธร จากที่ได้ตรวจเยี่ยม นอกจากจะเป็นสร้างความมั่นด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว ยังสร้างประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรเดิม ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียน และจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมอีกด้วย”

 

พร้อมกันนี้ กฟผ. จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ชุมชนสามารถนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น ด้านคุณภาพชีวิต ด้านอาชีพ การเกษตร การศึกษา และด้านสุขภาพ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อสนับสนุนด้านการส่งเสริมอาชีพของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มประมง กลุ่มย้อมผ้าทอมือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปลาซิวแก้ว กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มเรือ-แพท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

 

ในการพัฒนาโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ในลักษณะนี้ กฟผ.ได้ให้ความสำคัญกับประชาชน โดยเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และตอบสนองการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้มากที่สุด

 

จากเดิมที่ กฟผ. ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีก 9 เขื่อนทั่วประเทศ กำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ นั้น จากความสำเร็จในโครงการโซลาร์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินทร แบบก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียน เพื่อการสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ทาง กฟผ.เตรียมเสนอเพื่อขอความเห็นชอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวขยายการผลิตไฟฟ้าจากเดิม 2,725 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างมั่นคงของพลังงานไทย และการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ที่สำคัญคือ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ราคาถูก 

 

ไพทูร  ไพศาลสุขวิทยา

 

นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการ (พลังงานทดแทนและโครงการผสมผสาน) บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์จำกัด(มหาชน)  และ บริษัท เอ็นเนอยี่ ไชน่า จำกัด จากประเทศจีน ที่ได้เข้ามาพัฒนาและก่อสร้างโครงการนี้ ที่บริษัทฯ ทำการประมูลก่อสร้าง 842 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่ต่ำมาก สาเหตุที่ประมูลราคาต่ำขนาดนี้ จากบริษัทฯ ต้องการให้การบริหารจัดการโครงการมีราคาต้นทุนที่ต่ำ ประชาชนจะได้ใช้พลังงานในราคาถูก และประเทศลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

 

ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการนี้ทางบริษัทได้ทำการส่งกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2564 จำนวน 45 เมกะวัตต์ สำหรับการก่อสร้างโครงการที่ผ่านมีปัญหาอุปสรรคบ้างเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากความล่าช้าของการจัดส่งวัสถุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง จากมีสถานการณ์​โควิด-19 ระบาด และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์​ในการขนส่งสินค้า

 

หนุนกฟผ.เพิ่มโซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้า 5 พันเมก นำร่องใหญ่สุดที่เขื่อนสิรินธร

 

ทั้งนี้จากการที่ กฝผ.มีแผนที่จะขอการผลิตเพิ่มเติมจาก 2,750 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ทางบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในการประมูล​และเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์​วัสดุ​ในการติดตั้ง ที่มีคุณภาพและราคาตามสเปคที่กำหนดเอาไว้ของ กฟผ. โดยเฉพาะโครงการต่อไปที่เปิดประมูลในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2565 ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 24 เมกะวัตต์ โดยการประมูลที่เขื่อนอุบลรัตน์นี้  กฟผ.ได้กำหนดเพิ่มระบบกับเก็บพลังงานเพื่อสร้างความมั่นของพลังงานที่ผลิตได้เข้าด้วย และแน่นอนที่สุดบริษัทฯ และพันธมิตรคู่ค้าอย่าง เอ็นเนอยี่ ไชน่า ยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิมคือ ประมูลในราคาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ เพื่อสร้างมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เพื่อคนไทยใช้ไฟฟ้าที่ถูกและมีคุณภาพ