บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

08 ก.ย. 2564 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2564 | 16:27 น.
1.1 k

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้าร่วมโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ที่เขื่อนสิรินธร เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไฮบริดใหญ่สุดของโลก เป็นแห่งแรกของไทย และแลนด์มาร์กใหม่ที่กำลังนับถอยหลังเปิดตัวรับนักท่องเที่ยวของอุุบลราชธานี

    การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไฮบริดใหญ่สุดของโลก และแห่งแรกของไทย

เป็นอีกก้าวสู่อนาคตที่ข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ให้นำมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่อีก 9 เขื่อนของ กฟผ. ชนินทร์ สาลีฉันท์ หัวหน้าโครงการฯเล่าถึงความท้าทายครั้งนี้

ชนินทร์ สาลีฉันท์ หัวหน้าโครงการฯ

โซลาร์เซลล์ลอยนํ้าไฮบริดแห่งแรกของไทยใหญ่ที่สุดในโลก
 โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เข้ามาแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกรวน แต่ต้องใช้พื้นที่เยอะมาก โซลาร์เซลล์ลอยนํ้าผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้า หรือที่เรียกว่า“ระบบไฮบริด” จึงตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

โดยเลือกเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการนำร่องโดยต่อยอดจากโครงการวิจัยเดิม เมื่อแล้วเสร็จมีกำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยนํ้าไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และแห่งแรกของไทย

 แนวคิดคือการจับคู่พลังงานหมุนเวียน 2 ประเภท ระหว่าง พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังนํ้าจากเขื่อน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยพัฒนาระบบควบคุมบริหารจัดการพลังงาน(Energy Management System: EMS) ประสานการผลิตไฟฟ้าอย่างกลมกลืน และระบบพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) มาคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ให้บริหารไฟฟ้าแม่นยำยิ่งขึ้น

บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

ยิ่งท้าทายยิ่งปลุกพลัง
    โครงการใหญ่สุดของโลกแห่งนี้ ใช้แผงโซลาร์เซลล์กว่า 140,000 แผง ติดตั้งในอ่างเก็บนํ้าเหนือเขื่อนที่มีความลึก 10-30 เมตร และมี
ระดับนํ้าขึ้น-ลงแตกต่างกันประมาณ 3-5 เมตร มีโจทย์ท้าทายว่าจะติดตั้งอย่างไรให้ทุ่นลอยที่ใช้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อยู่กับที่ ไม่กระแทกกันเองจนเสียหาย จึงต้องคิดค้นระบบยึดโยงใต้นํ้า โดยทิ้งสมอคอนกรีตขนาดลูกละ 3-6 ตัน บนพื้นอ่างในจุดที่กำหนด ท่ามกลางกระแสนํ้าเหนืออ่าง จากนั้นใช้สายสลิงผูกไปยึดทุ่นลอยบนผิวนํ้า ซึ่งต้องคำนวณทิศทาง-ความแรงลม และใช้สายสลิงยึดสมอเป็นสายดินในตัว เป็นงานยากเหมือนกดลูก โป่งลงในนํ้า ต้องละเอียดและแม่นยำมาก
   บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก  

“ประจวบเหมาะกับเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เกิดพายุฝนพัดกระหนํ่าพัดเข้ามาที่แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งขณะนั้นได้ติดตั้งและยึดโยงลงใต้นํ้าไปแล้ว 2 ชุด ผลปรากฏว่าแผงและสลิงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ออกแบบไว้สามารถรับแรงลมจากพายุได้”

ขับเคลื่อนท่ามกลางมรสุมโควิด-19
เฉพาะแผนการก่อสร้างก็ท้าทายอยู่แล้ว ยังมาเจอกับมรสุมโควิด-19 เข้ามาซํ้าเติมอีก แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤติ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานรูปแบบใหม่ๆ อาทิการตรวจรับอุปกรณ์และดูการทดสอบอุปกรณ์ก่อนนำเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เดิมทีต้องเดินทางไปตรวจดูที่ประเทศต้นทางด้วยตัวเองแต่พอเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทีมงานต้องปรับรูปแบบการตรวจรับงานผ่านระบบออนไลน์แทน

บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

เส้นทางเดินชมธรรมชาติยกระดับเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ชมทิวทัศน์โซลาร์เซลล์ไฮบริดจากมุมสูง จุดเช็คอินใหม่อุบลราชธานี
 การบริหารคนงานในช่วงโควิด-19 ก็ท้าทายไม่แพ้กัน เพราะต้องใช้คนจำนวนมากในการก่อสร้างช่วงแรกต้องใช้ประมาณ 300 - 600 คนต่อวัน ทำงานกันทั้งกลางวันและกลางคืน จึงต้องคอยบริหารจัด การและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นพูดคุยทำความเข้าใจด้านความปลอดภัยของสุขภาพกับคนงานอยู่เสมอ
    โครงการนี้รับคนในพื้นที่เข้ามาทำงานเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% รวมถึงจ้างเจ็ตสกีของชุมชน ที่ปกติจะใช้รับส่งนักท่องเที่ยว มาช่วยลากแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในอ่างเก็บนํ้า รวมทั้งจ้างเรือหางยาวไว้รับ-ส่งคนงาน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 เหนืออื่นใดสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

ม่วนซื่นแลนด์มาร์กใหม่แดนอีสาน
    เขื่อนสิรินธรยังจัดทำทำเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ยาว 415 เมตร แบบยกระดับเลียบริมอ่างเก็บนํ้า เพื่อชม โซลาร์เซลล์ไฮบริดจากมุมสูงได้ อย่างชัดเจน ให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัด ซึ่งมีคนสนใจอยากจะเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในเดือนมกราคม ปี 2565 ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ชุมชนระยะยาว
  

เส้นทางเดินชมธรรมชาตินี้ออกแบบให้มีลักษณะเป็นวงล้อพลังงาน 7 แฉก สื่อแทนพลังงานสะอาดที่นำมากลับหมุนเวียนใช้อย่างไม่มีวันหมด ทางเดินออกแบบให้เป็นตะแกรงเหล็กโปร่ง เมื่อมองลงไปจะมองเห็นพื้นด้านล่างตลอดทาง และไฮไลท์เด็ดอยู่ที่บริเวณทางเดิน 3 แฉกบริเวณริมนํ้า ออกแบบเป็นพื้นกระจกบนความสูงถึง 10 เมตร ไว้เพิ่มความตื่นเต้น 

บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กฟผ. พร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนสิรินธร ฝีมือคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มนต์เสน่ห์แห่งใหม่ดินแดนดอกบัวงาม...อุบลราชธานี ที่ต้อง “ห้ามพลาด...มาเยือน” ในเร็วๆ นี้ 

บูมเที่ยวอุบลฯ  ชม‘โซลาร์ลอยนํ้าไฮบริด’ ที่1โลก

สัมภาษณ์/ชลธิษ จันทร์สิงห์

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 ประจำวันที่ 8-12 กันยายน พ.ศ.2564