มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า ฉุดจีดีพีไตรมาส 4

23 พ.ย. 2567 | 07:30 น.

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า ฉุดจีดีพีไตรมาส 4 : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เริ่มมีสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นมาบ้าง หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ไตรมาส 3 ของปีนี้ ขยายตัวที่ 3% เร่งตัวขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้ารวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% และทั้งปี 2567 น่าจะขยายตัวได้ 2.6% ขณะที่ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3%

ขณะที่ GDP ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หลายสำนักมีการคาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่องอีก สอดรับกับกระทรวงการคลังยังคาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ 4.3% เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีชั่นหรือ ฤดูการท่องเที่ยว ที่ประเทศจะได้อานิสงส์จากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวอีกไม่ตํ่ากว่า 9 ล้านคน รวมทั้งปีไม่ตํ่ากว่า 35 ล้านคน

ประกอบผลของการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ และผู้พิการ 1.45 แสนล้านบาท ที่เริ่มในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งสศช.อยู่ระหว่างประเมินเม็ดเงินที่ลงไปในระบบเศรษฐกิจอีกครั้งว่าจะมีผลอย่างไร

ส่วน GDP ไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ได้หรือไม่นั้น คงต้องมาลุ้นกัน เพราะยังมีตัวแปรความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก ทั้งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ที่อาจจะมีผลต่อเนื่อง มายังการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่จะกระทบการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ตลอดจนภาคการผลิตที่เจอโจทย์การแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงภาวะกำลังซื้อในประเทศโดยรวมที่ยังอ่อนแอ ที่เกิดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง

มีการประเมินว่า การขยายตัวของ GDP ไตรมาส 4 คงไม่สามารถพึ่งภาคการท่องเที่ยวและบริการได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลออกมา หากล่าช้าหรือไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แนวโน้มเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมประมาณ 4 ล้านคน ใช้งบประมาณ 40,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนมกราคม 2568 หรือ โอนเงินให้ไม่เกินช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีหน้านั้น ก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ได้ 

ขณะที่โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท มีกรอบวงเงินช่วยเหลือราว 4 หมื่นล้านบาท แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า เม็ดเงินจะส่งถึงมือเกษตรกรได้เมื่อใด

หรือแม้แต่มาตรการการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมกลุ่มที่มีหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ และ หนี้จากการบริโภค รวมมูลหนี้ประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ โดยจะพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยเติมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้กลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้นนั้น ก็ยังต้องรอสรุปในรายละเอียด

ดังนั้น การตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล่าช้า ย่อมส่งผลต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 นี้ อย่างแน่นอน