ถึงเวลาที่ไทย ต้องเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

26 ต.ค. 2567 | 06:00 น.

ถึงเวลาที่ไทย ต้องเก็บค่าธรรมเนียมรถติด : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4039

นโยบายการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถเข้าเมือง (ภาษีรถติด) หรือ ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในย่านใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก มีความพยายามมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการเมืองเปลี่ยนแปลงเร็ว ประชาชนไม่เห็นด้วย ขณะระบบขนส่งมวลชนสาธารณะยังไม่พร้อม

แต่ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และ รัฐบาล เอาจริง เก็บค่าธรรมเนียม สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ราว 40-50 บาท ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จากค่าทางด่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางระดมรายได้ นำไปชดเชยโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย จูงใจให้ประชาชนทิ้งรถหันมาใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย ลดค่าครองชีพประชาชน และเปิดโอกาสให้คนมีรายได้น้อยได้เข้าถึงระบบรถไฟฟ้า เป้าหมายภายในเดือนกันยายน ปี 2568 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่นานมานี้ว่า ขอเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน-1 ปี สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมนำรถเข้าเมือง 

พื้นที่ที่จะจัดเก็บ เช่น รัชดาภิเษก, สุขุมวิท , สยามพารากอน, สีลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีรถใช้บริการกว่า 700,000 คันต่อวัน

โดยกระทรวงการคลังจะต้องศึกษาข้อกฎหมายมารองรับ อีกทั้งต้องขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการจัดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมายอมรับว่าไม่ขัดข้องหากเป็นนโยบายรัฐบาล

ที่สำคัญ การเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง และส่งเสริมการใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ในทางกลับกัน ต้องดูท่าทีประชาชน หรือต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะบ้านเรา ไม่เหมือนต่างประเทศ คนไม่มีวินัย แม้จะมี รถไฟฟ้า เพิ่มขึ้นก็ตาม 

แต่อย่าลืมว่าระบบยังไม่เชื่อมต่อถึงกัน รวมถึงระบบฟีดเดอร์ยังไม่สมบูรณ์เพียงพออีกทั้ง จุดจอดรถปัญหาใหญ่ ทั้งมีน้อยและต้องเสียค่าจอดรถในราคาแพง ที่สำคัญต้องเพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟฟ้าในเมืองให้เพียงพอในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนนับว่าสำคัญ  

เรื่องนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะให้มีการศึกษาก่อนว่าผลออกมาดีหรือ ไม่ดีอย่างไร หลังจากนั้นก็จะอธิบายทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจ และจะเก็บเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 

หากเปลี่ยนพฤติกรรม คนใช้รถไฟฟ้าได้ นอกจากทำให้กรุงเทพฯ หลวมตามนโยบายการจัดวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้ว ยังช่วยลดมลพิษคืนคุณภาพชีวิตให้กับคนเมืองอย่างแน่นอน

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,039 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567