ผังเมืองที่ใช่ ความสำเร็จการเก็บภาษีรถติด

23 ต.ค. 2567 | 07:00 น.

การเก็บภาษีรถติด หนึ่งในมาตรการที่หลายเมืองทั่วโลกใช้ เเต่การวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนครอบคลุม เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้มาตรการนี้ประสบความสำเร็จ

เป็นกระเเสที่ถูกพูดถึง เมื่อ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะและลดมลพิษ

โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังจะร่วมกันศึกษาการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ด้วยการระดมทุนจากนักลงทุน ระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อคืนสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง เป็นธรรมและเข้าถึงได้ง่าย

รวมทั้งศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุน และอาจพิจารณานำไปเป็นดอกเบี้ยให้กับผู้ระดมทุน คาดว่าจะดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น

ตัวอย่างเมืองที่ประสบความสำเร็

1. ลอนดอน เป็นเมืองแรกที่เริ่มต้นเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในปี 2003 และเป็นตัวอย่างของการจัดการจราจรที่ได้ผล ผังเมืองเน้นให้เขตกลางเมืองซึ่งมีสถานที่สำคัญต่างๆ ถูกควบคุมการเข้าถึงโดยการเก็บค่าธรรมเนียม ระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม เช่น รถไฟใต้ดินและรถบัส ช่วยสนับสนุนให้ผู้คนเดินทางได้สะดวกโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว 

2. สตอกโฮล์ม เริ่มใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในปี 2006 ผังเมืองของสตอกโฮล์มมีความเป็นระบบและแบ่งเขตชัดเจน ระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟใต้ดินและรถบัส ช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก การเก็บค่าธรรมเนียมยังส่งผลให้มลพิษในเมืองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

3. สิงคโปร์ ใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติดที่เรียกว่า ERP (Electronic Road Pricing) ตั้งแต่ปี 1998 โดยมีระบบการจัดการรถยนต์ผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ผังเมืองเน้นความหนาแน่นในเขตเมืองและการเดินทางที่สะดวกด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า MRT ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก 

4. มิลาน เน้นการลดมลพิษและปัญหารถติดในใจกลางเมือง ระบบขนส่งสาธารณะมีความหลากหลาย เช่น รถไฟใต้ดิน รถราง และรถบัส มิลานแบ่งเขตการเก็บค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน ทำให้การจัดการจราจรได้ผลดีและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

ประเทศไทยพร้อมไหม

โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหารถติด การนำระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาใช้ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา

แม้ประเทศไทยจะมีระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า BTS, MRT แต่การครอบคลุมยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเมืองที่มีการเก็บภาษีรถติดสำเร็จ การเชื่อมต่อระหว่างเขตเมืองกับชานเมืองยังเป็นปัญหา ผู้คนจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน

กรุงเทพมหานครมีโครงสร้างถนนที่ไม่เป็นระเบียบและมีถนนเส้นเล็กจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้การตั้งจุดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้โครงข่ายการเดินทางในเมืองยังไม่เอื้อต่อการจำกัดการใช้รถยนต์ในบางพื้นที่

ขณะที่ความพร้อมทางเทคโนโลยี ยังไม่มีระบบจัดการจราจรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ตัวอย่างเช่น ERP ของสิงคโปร์ การนำระบบนี้มาใช้อาจต้องลงทุนสูงและใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง

อ้างอิงข้อมูล