การท่องเที่ยวในจีนในยุคหลังโควิด (จบ)

23 พ.ย. 2567 | 06:30 น.

การท่องเที่ยวในจีนในยุคหลังโควิด (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4046

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอีกประการหนึ่งก็คือ นักท่องเที่ยวจีนในยุคหลังโควิด นิยมเดินทางกันเป็น “กลุ่มเล็ก” นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมรถยนต์เอนกประสงค์ขายดิบขายดี ในช่วงหลายปีหลัง 

ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนในต่างแดน ที่กลุ่มไม่เกิน 10 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง และนิยมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับทัวร์กลุ่มใหญ่แบบดั้งเดิม
 

นักท่องเที่ยวเหล่านี้แสวงหาประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว และระบบดิจิตัลในจีนเป็นพื้นฐาน ประการสำคัญ ส่วนใหญ่เลือกพักในโรงแรมหลายดาว เช่ารถตู้คุณภาพสูง และอาจจ้างคนขับรถและล่ามประกบคณะ 

นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนในวัยทำงาน ยังนิยมใช้สมาร์ตโฟน เป็นอุปกรณ์คู่กายในการท่องเที่ยว พฤติกรรมนี้อาจเชื่อมต่อไปในต่างประเทศ เช่น การจัดโปรแกรมทัวร์ของตนเองที่มีลักษณะยืดหยุ่นและหลากหลายสูง ทำนองว่าที่ท่องเที่ยวไหนดี ประทับใจก็อยู่นานหน่อย ถ้าไม่ชอบก็ไปที่อื่นต่อ 

บ่อยครั้งที่พรรคพวกชาวจีนที่เป็น FC “เมืองไทย” จะขอคำแนะนำจากผมว่า ควรไปเที่ยวเมืองไหน สถานที่ใดใหม่ๆ ดี พร้อมเงื่อนไขตบท้ายว่า “เอาแบบที่มีคนจีนยังไม่ค่อยไปเที่ยวกันมากนัก” นี่ก็สะท้อนถึงโอกาสของการท่องเที่ยวใน “เมืองรอง” ของบ้านเราในอนาคต

นอกจากการกระจายตัวไปยังเมืองรองแล้ว ลักษณะกิจกรรมการท่องเที่ยวก็ขยับสู่ “คุณภาพสูง” และ “หลากหลาย” มากขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยกระแส “รักธรรมชาติ” และ “กีฬาสุดขั้ว” (X-Game) นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ จึงนิยมการถ่ายภาพ แคมป์ปิ้ง การพายเรือคายัค การกระโดดร่ม และ การเล่นกระดานโต้คลื่นในอันดับต้นๆ 

ธุรกิจทัวร์และระบบนิเวศน์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ก็ควรปรับตัวตามกระแสให้สอดรับมากขึ้น และใช้จังหวะโอกาสนี้เพื่อทำตลาด “เมืองน่าเที่ยว” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

ขณะเดียวกัน สถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอื่นๆ ก็ต้องสร้าง “อัตลักษณ์” ที่โดดเด่น “ประชาสัมพันธ์” ผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของจีนในภาษาจีน เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม และ “พัฒนา” มิติเชิงบวกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 

ไม่ว่าจะเป็นความสะอาด ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความโปร่งใสอย่างรอบด้าน ขณะที่ “เจ้าบ้าน” ก็ต้องร่วมกัน “เปิดกว้าง” และแสดง “รอยยิ้ม” ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตร

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้คนในพื้นที่ไม่เพียงได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังจะรู้สึก “ภาคภูมิใจ” ในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวต่างแดน นอกจากการละทิ้งถิ่นฐานไปแสวงหาโอกาสใหม่ นอกพื้นที่จะลดลงแล้ว ผู้คนอาจหวนกลับบ้านเกิด ซึ่งจะช่วยสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับเมืองรอง   

นั่นหมายความว่า เราต้องคิดให้รอบด้านตั้งแต่การกระตุ้นความตระหนักรู้ ความสนใจ และ ความโดนใจ ตั้งแต่สถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ไปจนถึงสถานที่จอดรถ ทางเท้า ห้องสุขา แม้กระทั่งของที่ระลึก และระบบการชำระเงิน และอื่นๆ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยว “ประทับใจ” ใช้เวลาอยู่ให้นานขึ้น 

อีกประเด็นหนึ่งที่เราสามารถเรียนลัดจากจีนได้ก็คือ ในยุคหลังโควิด จีนพยายามเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายเพื่อยืดระยะเวลา การจับจ่ายใช้สอย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายในการท่องเที่ยวจีนในยุคใหม่ 

ผมเห็นการแสดงทางวัฒนธรรมสุดพิเศษ ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และนวัตกรรมบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผุดขึ้นในหัวเมืองท่องเที่ยวน้อยใหญ่ จากเดิมที่พบเห็นเฉพาะในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เมื่อหลายปีก่อน กระจายไปสู่กวางโจว หางโจว อู่ฮั่น คุนหมิง และอีกหลายสิบหัวเมืองทั่วจีนในปัจจุบัน 

ขณะที่เมื่อพูดถึงของฝากของที่ระลึก ผมก็อยากเห็นการยกระดับในเชิงคุณภาพทั้งตัวสินค้า ที่ต้องใส่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับสินค้า มีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจและคิวอาร์โค้ดที่ลิ้งค์ไปยังฐานข้อมูล ถุงหิ้วที่สอดรับ และบริการก่อน-ขณะ-หลังการขายที่ดี เช่นเดียวกับที่เราเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในจีน

ประการสำคัญ เราต้องระลึกเสมอว่าเราไม่ได้ขายสินค้าเหล่านี้ให้แก่นักท่องเที่ยวระดับล่าง แต่กำลังขายไปยังกลุ่มเป้าหมายคนชั้นกลาง-สูงที่มีเงิน และพร้อมจะใช้เงินอีกด้วย 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อความประทับใจเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะช่วยโพสต์ภาพ และเล่าเรื่องราว และประสบการณ์ความประทับใจ (และไม่ประทับใจซึ่งไม่ควรให้เกิดขึ้น) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซื้อของที่ระลึกไปฝากคนที่รัก กลับมาเที่ยวอีก และ “บอกต่อ” ไปยังคนที่รัก ซึ่งถือเป็น “ต้นทุน” การประชาสัมพันธ์ที่ต่ำมาก

คำถามถัดมาก็คือ ไทยจะฝากชีวิตไว้กับตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้หรือไม่ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐบาลจีนให้ความสําคัญกับการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างมาก เพราะคงไม่อยาก “ขาดดุล” ด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุคก่อนโควิด

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2022 คณะรัฐมนตรีของจีนได้ประกาศแผนพัฒนาสําหรับภาคการท่องเที่ยวระหว่างแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) ซึ่งระบุว่า ภายในปี 2035 จีนคาดว่าจะกลายเป็น “โรงไฟฟ้าด้านการท่องเที่ยว” ผ่านการพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านการท่องเที่ยว “คุณภาพสูง” 

อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก รีสอร์ต อุทยานวัฒนธรรมแห่งชาติ และผู้ให้บริการการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการนําเทคโนโลยีอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับการท่องเที่ยวในชนบท การบูรณาการการพัฒนาวัฒนธรรม และการประสานสภาพปัจจัยแวดล้อมเข้ากับบริการ

ขณะที่ตามรายงานการเดินทางทั่วโลกของ World Travel Market ระบุว่า ในระหว่างปี 2024-2033 สัดส่วนของครัวเรือนชาวจีนที่มีกําลังซื้อพร้อมสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยมีปัจจัยสำคัญจากรายได้ต่อครัวเรือนและจำนวนคนชั้นกลางที่มากขึ้น 

เรากำลังพูดถึงจำนวนครัวเรือน ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ล้านครัวเรือน จำนวนดังกล่าวว่ามากแล้ว แต่ก็ยังคิดเป็นเพียง 2.3% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ 

                              การท่องเที่ยวในจีนในยุคหลังโควิด (จบ)

ขณะเดียวกัน การผ่อนคลายมาตรการเดินทางและทุ่มเททรัพยากรด้านการท่องเที่ยว ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของจีน ในปี 2024 เติบโตในอัตราที่สูงมาก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับข้อมูลของหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการท่องเที่ยวจีน (China Tourism Academy) และฟลิ๊กกี้ (Fliggy) แพลตฟอร์มด้านการเดินทางชั้นนําของกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group)

แต่รัฐบาลจีนก็ไม่ได้ปิดกั้นการแสวงหาประสบการณ์ในต่างประเทศของชาวจีน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวและอัตราการเติบโตดังกล่าวก็ตอกย้ำถึงศักยภาพมหาศาลของตลาดจีนในอนาคต 
และหากเป็นเช่นนั้นจริง การท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนจะแซงหน้าตลาดหลักอื่นๆ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และจะมีบทบาทสําคัญมากขึ้นสําหรับจุดหมายปลายทางหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ ไทย

ผมเชื่อมั่นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับยุคก่อนโควิด ในปี 2025 ซึ่งเป็นปีที่ไทยและจีน จะฉลองครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เรากำลังพูดถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 10 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อสูง ไทยจึงไม่ควรมองข้ามและใช้โอกาสนี้ต่อยอดให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมิติอื่นอย่างยั่งยืน

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นตรงกันกับผมว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และศักยภาพของการท่องเที่ยวจีน จะไม่เพียงมีส่วนสําคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังจะมีบทบาทมากขึ้นในการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวจีนและไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน