จีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัย สร้างอาคารสีเขียวแห่งโลกอนาคต (จบ)

10 พ.ย. 2567 | 06:00 น.

จีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัย สร้างอาคารสีเขียวแห่งโลกอนาคต (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4043

ทุกสิ่งล้วนมาด้านบวกและด้านลบ ไม่เว้นแม้แต่การดำเนินโครงการอาคารสีเขียว แล้วรัฐบาลจีนแก้ปัญหาเชิงลบอย่างไร เราไปพูดคุยกันครับ ...

ในด้านหนึ่ง แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของจีน ชะลอตัวลงในช่วงหลายปีหลังนี้ แต่หลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่า ตลาดอาคารสีเขียวในจีนยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตในเชิงคุณภาพอีกมากในอนาคต 

ขณะเดียวกัน เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และกฎระเบียบเกี่ยวกับอาคารสีเขียว และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ที่รัฐบาลจีนกำหนดขึ้นดังกล่าวมีส่วนช่วยให้นโยบายอาคารสีเขียวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การก่อสร้างอาคารสีเขียวก็กระทบชิ่งต่อไปเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจและด้านเทคนิค เช่น ต้นทุนเพิ่มเติม การนําเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และช่องว่างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางเศรษฐกิจ ที่ซ่อนไว้ด้วยความอ่อนไหว เพราะอาคารสีเขียวทำให้ผู้พัฒนาโครงการมีต้นทุนเพิ่มเติม ส่งผลให้ต้นทุนการดําเนินงานมักจะสูงกว่าอาคารแบบดั้งเดิม 

ภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นบั่นทอนความตั้งใจในการพัฒนาอาคารสีเขียวของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในจีนไปโดยปริยาย โดยในปี 2018 การก่อสร้างอาคารสีเขียว มีสัดส่วนเพียง 5% ของพื้นที่อาคารพาณิชย์ใหม่โดยรวม

แต่โดยที่โครงการอาคารสีเขียวเหล่านี้ สนับสนุนนโยบายการลดคาร์บอน 30/60 และจะสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมต่อส่วนรวมในระยะยาว รัฐบาลจีนจึง “ทุ่มสุดตัว” จัดสรรเงินช่วยเหลือโครงการเหล่านี้ในเวลาต่อมา ทำให้มากกว่า 80% ของโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียว ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในอีกทางหนึ่ง

เพื่อให้การดำเนินนโยบายการลดคาร์บอน 30/60 บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ การจัดตั้ง “ระบบการเงินสีเขียว” (Green Financial System) ที่ครอบคลุมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงกลายเป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าหมายมากที่สุด 

การเงินสีเขียวมีวัตถุประสงค์เพื่ออํานวยความสะดวก ในการกําหนด และดําเนินโครงการสีเขียวผ่านการจัดหาการลงทุน การจัดหาเงินทุน กองทุนการดําเนินงาน และบริการทางการเงินอื่นๆ และรัฐบาลจีนได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดตั้ง “ระบบการเงินสีเขียว” ในเวลาต่อมา โดยกำหนดเครื่องมือทางการเงินสีเขียว อันได้แก่ การลงทุนทางการเงินสีเขียว เครดิตสีเขียว การประกันภัยสีเขียว และ พันธบัตรสีเขียว 

ขณะเดียวกัน จีนก็ตั้งเป้าหมายการพัฒนาชุมชนเมืองและกองทุนเพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมสีเขียว โดยในหลายหัวเมือง รัฐบาลจีนได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อการจำนองจากกองทุนที่อยู่อาศัย (Housing Funds) เพิ่มขึ้นถึง 20% สำหรับผู้ซื้อหาที่อยู่อาศัยอาคารสีเขียว

วงเงินอุดหนุนในแต่ละส่วนได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นชนิด “แทบไม่อั้น” จนทำเอาการดำเนินนโยบายอาคารสีเขียวของจีน เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา 

ผลจากการดำเนินโครงการอาคารสีเขียวอย่างกว้างขวาง ยังทำให้จีนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของการรับรองความเป็นผู้นําด้านการออกแบบพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Leadership in Energy and Environmental Design) สําหรับอาคารต่อเนื่องนับแต่ปี 2016 โดยจีนมีโครงการที่ขึ้นทะเบียน LEED เฉลี่ยกว่า 1,000 โครงการในแต่ละปี และเพิ่มขึ้นในระดับสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี 

อนึ่ง LEED เป็นระบบการให้คะแนนอาคารสีเขียว ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก และเป็นกรอบการทำงานสำหรับอาคารสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพสูง และประหยัดต้นทุน 

ระบบดังกล่าวพัฒนาโดยสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐฯ (U.S. Green Building Council) และบริหารจัดการโดย Green Business Certification Inc. (GBCI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ที่ได้รับการยอมรับในความเป็นเลิศ ในการดำเนินงานและแนวทางปฏิบัติในอุตสาหกรรมธุรกิจสีเขียวทั่วโลก

ประการสำคัญ เมื่อต้นปี 2024 USGBC ยังได้ประกาศว่า จีนได้ครองอันดับ 1 ของโลกอีกครั้งที่ได้รับการรับรอง LEED ประจำปี 2023 โดยโครงการอาคารสีเขียวในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ได้รับการรับรองมีจำนวนถึง 1,563 โครงการ คิดเป็นพื้นที่รวมมากกว่า 24 ล้านตารางเมตร ทิ้งห่างแคนาดา อันดับ 2 ถึงราว 3 เท่าตัว และมีขนาดพื้นที่มากพอๆ กับประเทศที่ได้อันดับ 2-6 รวมกันเลยทีเดียว

โดยที่การจัดอันดับในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินการอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนของประเทศและภูมิภาคนอกสหรัฐฯ แต่หากนับรวม สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับ LEED โดยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจำนวน 51 ล้านตารางเมตร หรือกว่า 2 เท่าของจีน

อย่างไรก็ดี การคว้าแชมป์อีกครั้งของจีนในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกิจการอสังหาริมทรัพย์ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตลาดจีนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชุมชนของตนเอง ให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนมากขึ้น

                           จีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัย สร้างอาคารสีเขียวแห่งโลกอนาคต (จบ)

นอกเหนือ จากการเป็นผู้นำในการจัดอันดับ LEED แล้ว จีนยังได้รับการรับรองจากโครงการอื่นอีกมากมาย อาทิ โครงการ TRUE Zero Waste จำนวน 10 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับการรับรอง 1.29 ล้านตารางเมตร และโครงการ LEED สำหรับเมืองและชุมชนจำนวน 5 โครงการ

โดยหนึ่งในกิจการชั้นนำที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากโครงการดังกล่าว ก็ได้แก่ McDonald's China ไม่เพียงแค่เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด แต่ยังเป็นกิจการที่เปิดร้านอาหารสีเขียวมากที่สุด 

นับแต่ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ว่า ภายใน 4 ปี บริษัทจะเปิดร้านอาหารสีเขียวแห่งใหม่มากกว่า 1,800 แห่ง บริษัทก็วางแผนและดำเนินการอย่างไม่ย่อท้อ จนสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เพื่อหวังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด ผ่านการอนุรักษ์ทรัพยากร ลดการปล่อยมลพิษ และลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างร้านอาหาร การใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานให้สูงสุด

นับตั้งแต่ร้านแมคโดนัลด์แห่งแรกที่ ได้รับการรับรอง LEED เปิดดำเนินการในปี 2018 บริษัทมีร้านอาหารที่ได้รับการรับรอง LEED ใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1 ร้าน คิดเป็น 95% ของร้านแมคโดนัลด์ ที่เปิดใหม่ทั้งหมด และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 60,000 ตันต่อปี 

นอกเหนือจากการเปิดร้านอาหารสีเขียวแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นไปที่ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว บรรจุภัณฑ์สีเขียว และ การรีไซเคิลสีเขียว เพื่อประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น และลดการปล่อยมลพิษจากห่วงโซ่อุปทานไปยังการดำเนินงานร้านอาหารอีกด้วย

ภายหลังแผนงานบรรลุผลแล้ว บริษัทก็ยังไม่ยอมหยุด โดยได้จัด "โปรโมชั่นสีเขียว" อย่างสร้างสรรค์มากมาย เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ลูกค้าที่เดินทางมาที่ร้านด้วยจักรยานหรือเดินเท้าจะได้รับเครื่องดื่มฟรี

ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมอาคารสีเขียว มิใช่เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน 30/60 เท่านั้น แต่ยังจะทำให้เป็นจีนกลายเป็นประเทศที่น่าอยู่อย่างแท้จริงในที่สุด ...