“กิตติรัตน์”ประธานบอร์ด ธปท. เห็นต่างแต่ต้องไม่แตกแยก

13 พ.ย. 2567 | 13:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 13:34 น.

“กิตติรัตน์”ประธานบอร์ด ธปท. เห็นต่างแต่ต้องไม่แตกแยก : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โผไม่พลิกสำหรับการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดธปท./บอร์ดแบงก์ชาติ) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อ 11 พ.ย. 2567 กินเวลานานเกือบ 5 ชั่วโมง

ยกสุดท้ายคณะกรรมการคัดเลือกฯได้เคาะชื่อ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง ให้เป็นว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นคนที่ 5 ของประเทศไทย

ขั้นตอนหลังจากนี้จะได้นำเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อครม.เห็นชอบแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

ก่อนและหลังผลการประชุมครั้งนี้ ยังมีกระแสของฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายสนับสนุน ที่ระบุถึงความเหมาะสมที่ นายกิตติรัตน์ จะเข้าไปนั่งกุมบังเหียนแบงก์ชาติ โดยฝ่ายคัดค้าน อาทิ 4 อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กลุ่มนักศึกษา ประชาชน คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

โดยเหตุผลหลักของฝ่ายคัดค้าน เกรงฝ่ายการเมืองจะเข้าไปครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ทำให้ขาดความเป็นอิสระซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบธนาคารกลาง จะทำให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงต่อระบบการเงินและความมั่นคงของชาติ และจะทำให้ไม่เหลือหน่วยงานที่ทัดทานนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายการเมืองที่ไม่ถูกต้องได้

นอกจากนี้ยังระบุ นายกิตติรัตน์ มีความด่างพร้อยด้านจริยธรรม เพราะอดีตเคยมีพฤติการณ์ “โกหกสีขาว” (White lies) และเคยประกาศจะถอดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคัดค้านรัฐบาลไม่ให้เข้าไปล้วง “ทุนสำรองชาติ” นำไปใช้เพื่อสนองนโยบายประชานิยม

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน เช่น เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรม ชี้ว่า นายกิตติรัตน์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งเรื่องการกู้เงิน และการธนาคารที่เป็นธรรมกับประชาชน โดย นายกิตติรัตน์ ได้ว่างเว้นไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว จึงไม่ถือว่ามีตำแหน่งทางการเมือง

อย่างไรก็ดี ในข้อเท็จจริงที่หลายฝ่ายเข้าใจว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีอำนาจปลดผู้ว่าฯ ธปท.ได้นั้น หากอ้างอิงตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 การจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อคือ ครม.มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือ ครม.มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของ รมว.คลัง หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำเเนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

หากพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วมีความเป็นไปได้ยากที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะเสนอให้ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ หากไม่มีเหตุที่เป็นเรื่องการบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือ หย่อนความสามารถ

ดังนั้น การจะเข้าไปทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ของ นายกิตติรัตน์ ในห้วงเวลานับจากนี้ จึงหวังทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน จะได้ใช้เหตุและผลในการพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อให้ธนาคารกลางของประเทศไทยมีความสง่างาม ได้รับการยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืนสืบไป

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567