“ทรัมป์”กลับมา การค้าโลกผันผวน ไทยต้องรักษาสมดุลสองมหาอำนาจ

09 พ.ย. 2567 | 06:09 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 16:55 น.

“ทรัมป์”กลับมา การค้าโลกผันผวน ไทยต้องรักษาสมดุลสองมหาอำนาจ : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,043

ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ทำให้ทั่วโลกจับตาว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาจะมีผลกระทบอย่างไร หลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสียงข้างมาก ทั้งสภาสูงสภาล่าง 

เนื่องด้วยนโยบายของ ทรัมป์ ชัดเจนว่า จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 60% และประเทศอื่นเพิ่มเป็น 10%  และดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ โดยใช้มาตรการจูงใจทางภาษี รวมถึงอาจถอนตัวจากข้อตกลง Paris Agreement และอาจชะลอร่างกฎหมาย Clean Competition Act ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง 

ดังนั้น ภาพรวมนโยบายของ ทรัมป์ จะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อทิศทางการค้าการลงทุนโลกในหลายด้าน จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นั่นหมายถึงว่า ค่าเงินบาทเราจะอ่อนค่าลงด้วย ราคาทองร่วง จากความชัดเจนที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะลดความร้อนแรงลง, ราคานํ้ามันทรุด, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี พุ่ง, หุ้นสหรัฐขึ้นชั่วคราวจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคล, หุ้นจีนลดลง (ชั่วคราว) เฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง และ ลดยาวตํ่ากว่า 3.50% ในปีหน้า

แม้สงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน จะประทุขึ้น แต่ไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย จากโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปแทนที่สินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ มีไม่มาก เพราะกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Consumer Goods เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เสื้อผ้า รองเท้า และ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญอยู่แล้ว 

อีกทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยตํ่ากว่าประเทศอื่น อาทิ เวียดนาม และ เม็กซิโก ขณะเดียวกัน นโยบายของทรัมป์ ยังอาจทำให้สถานการณ์สินค้าจีนทะลักเข้าไทยรุนแรงขึ้น จากการระบายสินค้าส่วนเกินของจีน โดยเฉพาะในกลุ่ม Consumer Goods ไปยังประเทศอื่น 

การมาของ ทรัมป์ จะทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% และทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้น เพื่อขานรับนโยบาย แต่สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมา หลังการขึ้นภาษีนำเข้า และทำให้ Fed อาจพิจารณาชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568  

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับทิศทางการค้า การลงทุน และการเมืองโลก ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และ จีน  โดยเน้นการรักษาความเป็นกลางเพื่อให้ไทยสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับทั้งสองประเทศได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ภาคธุรกิจอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,043 วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567