ผลกระทบตลาดทุนไทย หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

08 พ.ย. 2567 | 05:00 น.

"วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล" มองการกลับมาของ "โดนัลด์ ทรัมป์" สร้างความผันผวนตลาดหุ้นทั่วโลก ชี้ตลาดทุนไทยยังแกร่ง รับแรงหนุนปัจจัยในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กองทุน TESG-วายุภักษ์ หนุน ด้านทุนต่างชาติปี 67 คงสถานะขายสุทธิแสนล้าน และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 68

หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมครองเสียงข้างมากในสภา Congress แบบเบ็ดเสร็จ (Red sweep) ก็เป็นที่น่าจับตาต่อไปว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะปฎิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในประเทศไทยหลายแห่งเองก็มีทั้งสหรัฐฯ และจีน เป็นคู่ค้ารายสำคัญ

ซึ่งการได้รับชัยชนะครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการเมืองของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในประเทศ ฟื้นฟูและพัฒนาสหรัฐฯแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายของทรัมป์ คือ การผลักดันนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน (America First)" เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายใน ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้มุมมองต่อเรื่องดังกล่าวว่า จากการได้กลับเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หุ้นสหรัฐฯ และบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นแข็งกว่าตลาด (Outperform)

แต่สถานการณ์กระแสเงินทุนต่างชาติในครั้งนี้จึงย่อมมีความแตกต่างกว่าปีครั้งปี 2016 ที่อยู่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และยังไม่มีใครเตรียมพร้อมในการรับมือนโยบายการตั้งกำแพงภาษี (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่ด้วยประสบการณ์จากรอบก่อนทำให้มองว่าธุรกิจที่มีความเกี่ยงโยงกับทั้ง 2 ประเทศได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกันแล้วในระดับหนึ่งแล้ว
 

โดยผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการทำคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดี (Executive Order) ล่วงหน้าไปบ้างแล้ว เพื่อลดทอนผลกระทบที่จะเกิดกับการดำเนินธุรกิจในอนาคต แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เชื่อว่าภาคธุรกิจจะหาทางรับมือกับนโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์ได้ไม่มากก็น้อย

จากนี้ไปคงต้องจับตารอดูในเรื่องของการค้าโลกว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ เชื่อว่าบริษัทเอกชนจะมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ธุรกิจก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

"ต้องยอมรับเลยว่าการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ คือมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อสูง แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดลดน้อยลง แน่นอนว่าการคาดเดาใจทรัมป์เป็นเรื่องยาก ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนแน่นอน รวมถึงไทยด้วย แต่ด้วยปัจจัยในประเทศที่ยังมีมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากกงอทุน TESG และวายุภักษ์ ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่หลุด 1,400 จุดแน่นอน"

ด้านกระแสเงินทุนของต่างชาตินั้น หากย้อนกลับไปในช่วงเลือกตั้งสมัยของบารัค โอบามา ต่างชาติเริ่มทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เฉลี่ยประมาณ 500-600 ล้านดอลลาร์/วัน แต่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างหนักหน่วง ด้วยสถานะการถือครองหุ้นของต่างชาติมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

แต่กับรอบนี้แม้การขายของต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 500-600 ล้านดอลลาร์/วัน ใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างกัน เพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นของต่างชาติมีไม่มาก รวมถึงด้วยตอนนี้อยู่ในสภาวะดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ตลอดจนในช่วงที่ผ่านมาก็มีการทยอยขายออกไปพอสมควรแล้ว

พร้อมกันนี้ ทางฝ่ายคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากทั้งมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ และการเก็บภาษีนำเข้า (Tariff) ที่สูงขึ้น มีโอกาสทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการลดดอกเบี้ยในช่วงถัดไป อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 5% คาดการณ์ว่าภายในระยะ 1 ปีครึ่งจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจลดลงมาสู่ระดับ 3%

แต่ด้วยความคิดเห็นของนักลงทุน (Fed Fund Future) มีการปรับลดประมาณการณ์ลง หลังจากที่คาดว่าการลดดอกเบี้ยลงมีโอกาสน้อยกว่าประเมินไว้ ดังนั้นจึงทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจลดลงเหลือที่ราว 4% ในขณะที่ภายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เอง มีโอกาสที่จะเห็นภาพการปรับตัวที่แตกต่างระหว่างกลุ่มหุ้นในช่วง 1 เดือนแรก คล้ายกับปี 2016

ยกตัวอย่างเช่น การปรับตัว Outperform ของกลุ่มหุ้น Cyclical เมื่อเทียบกับ Defensive, การปรับตัว Outperform ของกลุ่มหุ้น Value เมื่อเทียบกับ Growth การปรับตัว Outperform ของดัชนี Dow Jones เมื่อเทียบกับ NASDAQ และการปรับตัว Outperform ของหุ้นขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ 

ในฝั่งของหุ้นไทย คาดว่าคงแปรผันไปตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภาพรวม แต่ดัชนี SET  น่าจะมีความแข็งแกร่งกว่าไม่มากก็น้อย จากการที่ Bond yield ในประเทศไม่ได้ปรับขึ้นในรอบนี้ ทำให้มาตรวัด Valuation ของตลาดหุ้นไทยจำพวก Yield gap ยังคงดูน่าสนใจในสายตานักลงทุนในประเทศ ซึ่งข้อโชคดีก็คือ นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงพอมีสภาพคล่องเหลืออยู่

ทั้งนี้ ทางฝ่ายประเมิน SET Index มีโอกาสยากมากที่จะหลุดระดับ 1,400 จุดภายในสิ้นปี 67 มองกลุ่มหุ้นไทยที่น่าสนใจบนธีม U.S. election play ได้แก่กลุ่ม Oil & Gas และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มหุ้นที่ปลอดภัยยังคงมองไปยังกลุ่มหุ้น Domestic ในประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก อสังหาฯ สื่อสาร ไฟแนนซ์ ท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่ม Bond-liked อย่าง IFF/REIT/Utilities เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปี 67 กลุ่มที่เข้ามามีบทบาทช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยได้มากที่สุด คือ กลุ่มสถาบัน ในขณะที่ทุนต่างชาติในปีนี้ยังคงเห็นภาพของการติดลบเฉลี่ยประมาณแสนล้านบาท และอาจต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ ในปี 68 ทางฝ่ายประเมินเป้าหมายดัชนี SET Index ไว้ที่ระดับ 1,500-1,600 จุด

ในปี 68 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทางฝ่ายคาดการณ์ GDP อยู่ที่ระดับ 3.6% และในปี 67 ที่ราว 2.8% โดยในปีหน้ามองว่ายังมีปัจจัยเชิงบวกที่เข้ามาหนุนเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ซึ่งเป็น New S-Curve ของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทางฝ่ายอยู่ระหว่างการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ ส่งผลให้ตัวเลขต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป