ตีกรอบ “คลินิก- สถานพยาบาล” อุ่นใจประชาชน

16 ต.ค. 2567 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 15:11 น.

ตีกรอบ “คลินิก- สถานพยาบาล” อุ่นใจประชาชน : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036

การออกประกาศ “เกณฑ์การกำหนดโทษทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับความผิดผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และความผิดต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา” ของ “แพทยสภา” นอกจากจะสร้างความโล่งอกให้กับบรรดาแพทย์ (ที่มีจริยธรรม) ยังสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน     

เพราะปัญหาหมอเถื่อน หมอเก๊ หมอไม่ตรงปก รวมถึงหมอที่อาศัยชื่อ อาศัยใบอนุญาตไปแฝงหากินมีมาช้านาน และเรื้อรัง ไร้การแก้ไข จนเป็นที่เอือมระอาของบรรดาแพทย์ ตลอดจนคนในวงการ 

การกำหนดโทษทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมฯ ในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้ขีดเส้นให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นคลินิก สถานพยาบาล โรงพยาบาลขนาดเล็ก เดินตรงทางมากยิ่งขึ้น 

ข้อมูลจากแพทยสภา ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ทั้งสิ้น (แพทย์ที่มีชีวิตและมีใบอนุญาต) 74,488 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ และอีก 430 คน อยู่ในต่างประเทศ และมีแพทย์ที่ขาดการติดต่อ 1,808 คน มีแพทย์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 24 คน 

เกณฑ์การกำหนดโทษทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับความผิดในการเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และความผิดต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณานี้ สาระสำคัญที่น่าจับตามองคือ 

หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมยินยอมให้ใช้ชื่อตนเองเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลโดยผิดกฎหมาย หรือ การให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปฏิบัติงานแทน รวมทั้งมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง ให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน หรือไม่เหมาะสม

ตลอดจนมีการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ต่อสาธารณะในลักษณะที่ทำให้ทราบว่า ตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีการใช้ชื่อทางการค้า หรือ ชื่ออื่นใดของผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งทางตรง ทางอ้อม 

ไม่ว่าจะเป็นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด ในการให้ความรู้ในทำนองโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นต่อประชาชนทั่วไป อันอาจส่งผลเสียและอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะได้เป็นวงกว้าง ก็ล้วนเป็นความผิดทั้งสิ้น

ที่ผ่านมาอาจจะมีการผ่อนปรน บทลงโทษ แต่นับจากนี้จะเห็นการลงโทษที่จริงจัง และเข้มข้นขึ้น ตั้งแต่การกระทำผิดในครั้งแรก คือการพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี หากกระทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 ก็เพิ่มโทษพักใช้ใบอนุญาตฯ 2 ปี และหากยังกระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ก็ให้เพิกถอนใบอนุญาตฯ ตลอดไป

เชื่อว่าการตีกรอบครั้งนี้ของแพทยสภา จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในการเข้าไปใช้บริการคลินิก สถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างอุ่นใจยิ่งขึ้น 

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036 วันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567