เมื่อเอเชี่ยนเกมส์ 2022 ได้เวลาเฉิดฉาย (จบ)

27 ก.ย. 2566 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 14:17 น.

เมื่อเอเชี่ยนเกมส์ 2022 ได้เวลาเฉิดฉาย (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3926

ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ จีนก็หวังสร้างประโยชน์ในหลายด้าน และคาดว่าจะมี “เซอร์ไพร์ส” เกิดขึ้นแน่นอน ...

การเลื่อนการจัดงานออกไปอีกราวหนึ่งปี ยังทำให้จีนมีเวลาในการเตรียมตัวเพิ่มขึ้น ผมมีโอกาสแวะไป หังโจว เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ก็พบว่า หังโจวพร้อมเป็นเจ้าภาพต้อนรับทุกคนที่ต้องการไปเยือนแล้ว ผมเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนจะ “จัดเต็ม” เอเชี่ยนเกมส์ 2022 ณ นครหังโจว เฉกเช่นเดียวกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศที่ผ่านมา

ข้อมูลจากคณะกรรมการจัดงานระบุว่า หังโจว เมืองเอกของ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมณฑลที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอันดับต้นๆ ของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเป็นเมืองที่ 3 ของจีน ที่ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันใหญ่สุดของชาวเอเซีย หลังจากที่ปักกิ่ง และ กวางโจวมีโอกาสเป็นเจ้าบ้าน เมื่อปี 1990 และ 2010 ตามลำดับ 

โดยในชั้นนี้ การจัดเตรียมสนามแข่งขันในครั้งนี้ทั้ง 44 แห่ง ก็เสร็จเรียบร้อยนานแล้ว โดยจีนลงทุนปรับปรุงสนามกีฬาจำนวน 30 แห่ง และก่อสร้างสนามใหม่อีกถึง 14 แห่ง ซึ่งรวมถึง Hangzhou Olympic Sports Expo Center ที่เป็นสนามหลัก ที่ใช้ในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันในครั้งนี้ 

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมมีโอกาสแวะไปส่องสนามกีฬากลางแห่งนี้ ก็พบว่า งดงามมาก และออกแบบโดยคำนึงถึงหลักฮวงจุ้ยอีกด้วย ด้านหน้ามีสายน้ำ ส่วนด้านหลังก็เป็นฝูงอาคารสูงดั่งเทือกเขาใหญ่ที่จีนเนรมิตขึ้น ทั้งที่เมื่อ 10 ปีก่อนผมแทบไม่เห็นอาคารสูงในย่านนี้เลย

นอกจากนี้ จีนยังทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างพร้อมสรรพเพื่อการนี้ อาทิ เส้นทางด่วน และ รถไฟใต้ดินที่พาดผ่านสนามกีฬา หมู่บ้านนักกีฬา ศูนย์บริการสื่อมวลชน และอื่นๆ 

นอกจากการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองใหม่แล้ว จีนยังลงทุนขยายเส้นทางรถไฟใต้ดิน ทางด่วน บริการขนส่งทางถนน และ ทางเรือสาธารณะ และอื่นๆ ภายในเมืองอย่างเต็มที่ แต่เห็นรถไฟสายที่ 19 ที่ผ่านสนามกีฬาหลักแล้ว ก็อย่าพึ่งตกใจ นึกว่าหังโจวพัฒนารถไฟใต้ดิน เพียงไม่กี่ปีมีถึง 19 สายแล้ว 

อันที่จริงหังโจวในปัจจุบัน มีรถไฟใต้ดินเพียงราว 5 สาย แต่ที่เรียกว่าเป็นสายที่ 19 ก็เพราะถือเป็น “รถไฟสายเอเชี่ยนเกมส์” (Asian Games Themed Train) ตามเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 19 นั่นเอง 

จีนยังลงทุนก่อสร้าง “ทางด่วนอัจฉริยะ” (Smart Expressway) ที่มีความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (จาก 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปัจจุบัน) เป็นเส้นทางแรกของจีน 

ทางด่วนนี้ มีระยะทางกว่า 370 กิโลเมตร เชื่อมโยงระหว่างเมืองหังโจว-หนิงโปว ที่มีทั้งอุโมงค์อัจฉริยะ ศูนย์บริการอัจฉริยะ และ ถนนที่รองรับการสื่อสารกับรถยนต์ และคนขับ โดย EVs เจนใหม่ จะสามารถ “แล่นไปชาร์ตไป” ได้

สำหรับหลายท่านคงได้ชมการถ่ายทอดสดและคลิปบางส่วนที่กลายเป็นไวรัลทั่วโลกในชั่วข้ามคืนกันไปแล้ว ถ้าให้คะแนนการแสดงที่นำเสนอประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมผ่านชุดสื้อผ้าหน้าผม ฉากจริงและดิจิตัล ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน และ นวัตกรรมแสงสีเสียงที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์แล้ว หลายคนบอกว่าไร้ที่ติจริงๆ เรียกว่ารับ 100 คะแนนเต็มไปเลย

ก่อนหน้านี้ ผมพยายามสอบถามเพื่อนที่หังโจวว่า การแสดงในพิธีเปิดมีอะไรที่เป็นไฮไลต์บ้าง ก็ได้รับแจ้งว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บเป็นความลับ นักแสดงเกือบ 50,000 ชีวิต ถูกเก็บตัวซุ่มซ้อมแบบไม่ให้กลับบ้าน และใช้ชีวิตในวงจำกัดเป็นเวลานานหลายเดือน ก่อนพิธีเปิดเพื่อมิให้ข่าวชุดการแสดงรั่วออกไป 

ครั้นได้เห็นการแสดงในพิธีเปิดดังกล่าวแล้ว ก็เรียกว่า “ยิ่งใหญ่อลังการ” และ “คุ้มค่าการรอคอย” ที่ต้องจัดล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมราว 1 ปีอย่างแท้จริง ยิ่งช่วงไฮไลต์ของช่วงการจุดคบเพลิง ก็ผสมผสานโลกของความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจริงได้อย่างสุดยอด เรียกว่า จังหวะเวลาสอดรับกันระดับเสี้ยววินาทีเลยทีเดียว จึงนับว่า AR ของจีนในวันนี้ไปไกลกว่าที่หลายคนคิดไว้มาก 

ผมยังเปรยกับพรรคพวกว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ต่อจากจีน ล้วนเหนื่อยทุกราย แต่จากนี้ไปจะยิ่งเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เพราะชาวโลกคงต่างจับตามอง และเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของการจัดงานกับจีนอยู่เสมอ

ในอดีต ผู้คนชอบพูดถึงความสามารถในการผลิต “เชิงปริมาณ” ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนหลายฝ่ายนิยมใช้คำว่า “จงกั๋วซู่ตู้” (China Speed) อยู่เนืองๆ ในยุคหลัง แต่จีนกำลังพัฒนาหลายสิ่งในเชิง “คุณภาพสูง” ที่จะกลายเป็น “มาตรฐาน” ของนานาประเทศ เราอาจมีคำศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า “จงกั๋วเปียวจุ่น” (China Standard) ที่พูดกันติดปากในอนาคต

ที่น่าภาคภูมิใจกับพี่น้องชาวจีนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้กำกับ ครีเอเตอร์ นักแสดง เสื้อผ้า และ ดีไซน์เนอร์ รวมไปถึงนักเขียนซอฟแวร์ AR ออกาไนเซอร์ และอื่นๆ ที่ปรากฏในพิธีเปิดเอเชี่ยนเกมส์ครี้งนี้ ก็ล้วนเป็นของจีนเองล้วนๆ เรากำลังพูดถึงการมีห่วงโซ่อุปทานด้านธุรกิจบันเทิงที่แข็งแกร่ง สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพสูง และยืดหยุ่นของจีนในปัจจุบัน 

ดังนั้น ในอนาคต เราคงจะได้เห็นจีนทำเงินจากการขายเทคโนโลยี และโนว์ฮาวในธุรกิจบันเทิง และ การแสดงสีเสียงด้าน AR ในพิธีเปิดการแข่งขันและงานใหญ่ๆ ของโลกเป็นแน่

อีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และสินค้า/บริการของจีนในเวทีระหว่างประเทศ ก็คือ การกำหนดแนวคิดของ “เอเชี่ยนเกมส์สีเขียว” (Green Asian Games) 

อย่างที่เราคุยไปกันในหลายครั้งที่ผ่านมา จีนยึดหลัก “การเมืองนำเศรษฐกิจ” ดังนั้น พอผู้นำจีนไปมีพันธสัญญาในเวทีการประชุมสุดยอดโลกร้อน ในเรื่อง “Carbon Peak” และ “Carbon Neutral” ในปี 2030 และปี 2060 ตามลำดับแล้ว ทุกองคาภยพของจีนก็เดินหน้าเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

เราได้เห็นการดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน ในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อต้นปี 2022 ที่ปักกิ่ง โดยในครั้งนั้น ถือได้ว่าจีนได้จัด “Green Winter Olympic” เป็นครั้งแรกในโลก

                               เมื่อเอเชี่ยนเกมส์ 2022 ได้เวลาเฉิดฉาย (จบ)

และในเอเซี่ยนเกมส์ครั้งนี้ จีนก็ยังต่อยอดอีกหลายสิ่งที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดพิธีเปิด-ปิดที่ “ไร้ควัน” ไม่มีพลุดังเช่นที่ผ่านมา แต่ทดแทนด้วยพลุดิจิทัล และ โดรนแปรขบวน 

และการใช้พาหนะ “พลังงานทางเลือก” อาทิ รถไฟฟ้า และ รถไร้คนขับป็นพาหนะรับส่งคณะนักกีฬา กรรมการ เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และอาสาสมัคร แม้กระทั่งบริการสาธารณะในเมืองหังโจว และ หัวเมืองในบริเวณใกล้เคียงก็ล้วนใช้ระบบไฟฟ้า อาทิ แท๊กซี่ รถเมล์ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าความเร็วสูง และ เรือข้ามฟาก

กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในเมืองหังโจว ก็ดึงมาจากแหล่งพลังงานสะอาดบริเวณ “หางไก่” ด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานสีเขียวที่สำคัญของจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพลังงานลม และแสงอาทิตย์

โดยที่การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยว และใช้ชีวิตในหังโจว เป็นจำนวนหลายล้านคน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการจัดกิจกรรมพิเศษในหังโจว และพื้นที่ใกล้เคียง ก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทั้งจีนและเทศ ก็ถูกติวเข้มมาเป็นเวลานาน กระแสข่าวยังระบุว่า รัฐบาลหังโจวได้กำหนดให้ช่วงจัดการแข่งขันฯ เป็นวันหยุดสำหรับคนท้องถิ่น และออกมาตรการจูงใจให้คนหังโจว ไปท่องเที่ยวนอกพื้นที่ เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ในเมือง

ผู้จัดงานยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดการขยะไฟพร้อมกัน โดยตั้งเป้าหมายของ “Zero Waste” ที่นำขยะมาใช้ในการผลิตพลังงาน ย่อยเป็นปุ๋ย และนำกลับมาใช้ใหม่
เพื่อสะท้อนถึงศักยภาพของหังโจว ในความเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ที่ก้าวล้ำนำยุคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความอัตโนมัติก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของจีนไปพร้อมกัน

โดยผู้จัดงานได้จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์อัตโนมัติที่ทันสมัยไว้ให้บริการ อาทิ หุ่นยนต์ด้านบริการในโรงแรมที่พัก และ ห้องอาหาร และระบบควบคุมการจราจร และควบคุมฝูงชนผ่านระบบการจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์
คณะกรรมการจัดงานได้คัดเลือกหลายสิ่งอย่างสอดรับกัน แม้กระทั่งมาสคอตก็เป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะ 3 ตัว (Smart Triplets) ที่มีชื่อว่า “คองคอง” (Congcong) “เฉินเฉิน” (Chenchen) และ “เหลียนเหลียน” (Lianlian) โดยเฉินเฉินก็เลือกใช้ “สีฟ้า” ซึ่งเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสะท้อนถึงความก้าวหน้าด้านอินเตอร์เน็ตของหังโจว

การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ทั้งในแง่การท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอย ที่ดูจะอ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย โดยชาวต่างชาติยังจะได้มีโอกาสใช้เงินหยวนดิจิทัล ผ่านของที่ระลึกมากมาย ยอดจำหน่ายของขวัญของที่ระลึกของเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ คงกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจนพุ่งทะยานชนเพดานเป็นแน่ และน่าจะกระจายตัวไปยังสินค้าอื่นของจีนด้วยพร้อมกัน

ลองคิดดูว่า ยอดจำหน่ายสมาร์ตโฟนหัวเหว่ย Pro Mate 60 ที่มีสารพัดฟังก์ชั่นที่ล้ำสมัย และพึ่งเปิดตัวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จะพุ่งทะยานขนาดไหนในช่วงเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้
และที่เราอาจคิดไม่ถึง การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จีนยังจะได้รับประโยชน์จากเสริมสร้างกระแสความห่วงใยสุขภาพ และการปลุกกระแสความรักชาติไปพร้อมกัน

ปกติ จีนมักเลือกจัดงานใหญ่ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และกำหนดค่าบัตรผ่านประตูที่ไม่สูงมากนัก เพื่อเปิดโอกาสให้คนจีนจำนวนมากได้มีส่วนร่วม ยิ่ง เอเชี่ยนเกมส์ 2022 ครั้งนี้ ก็จัดขึ้นในช่วงหยุดยาววันชาติ และท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วยแล้ว ก็คิดต่อได้ว่า กระแส “ความรักชาติ” คงท่วมท้นหังโจวเป็นแน่ 

สิ่งนี้ทำให้ผมนึกกังวลใจแทนนักกีฬาของชาติอื่นๆ ที่เข้าร่วมแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ ว่าจะไม่เพียงต้องพบกับ “ความเก่ง” และ “ความเอาจริงเอาจัง” ของนักกีฬาจีนที่มุ่งหวังคว้าเหรียญทองและทำลายสถิติเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกองเชียร์แดนมังกรอีกด้วย

ยังไงก็ขอเชิญชวนทุกท่านช่วยส่ง “แรงใจ” เชียร์นักกีฬาไทย 939 ชีวิตกันนะครับ ...