จีนเปิดตัวรถไฟไวกว่าเครื่องบิน

03 พ.ค. 2566 | 14:26 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 14:27 น.
1.3 k

จีนเปิดตัวรถไฟไวกว่าเครื่องบิน : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,884 หน้า 5 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม 2566

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวพัฒนาการด้านนวัตกรรมการขนส่งทางราง อาจเคยได้ยิน “รถไฟความเร็วสูง” ของจีนที่พัฒนาด้านคุณภาพและสามารถทำความเร็วได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่นิยมในวงกว้าง บ่อยครั้งผมเองยังสงสัยว่า จีนจะเป็นอย่างไรในวันนี้ หากไม่มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการ

รถไฟอีกระบบหนึ่งก็ได้แก่ “รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า” (Magnetic Levitation) หรือที่เราเรียกกันจนติด ปากว่า “Maglev” (แม็กเลฟ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จีนลงทุนซื้อจากบริษัทซีเมนส์ (Siemens) ของเยอรมนี 

 

 

 

ปัจจุบัน Maglev “สายพันธุ์เยอรมนี” นี้ ได้เปิดให้บริการที่นครเซี่ยงไฮ้ ด้วยความเร็ว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ใครไปใช้บริการก็อาจรู้สึกถึงความสะดวกและรวดเร็ว เพราะการเดินทางระหว่างตัวเมืองผู่ตง และสนามบินผู่ตง ระหว่างประเทศที่มีระยะทางราว 40 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 8 นาที

นอกจากนี้ ในช่วงที่จีนเผชิญกับวิกฤติโควิด จีนก็เปิดตัว Maglev “สายพันธุ์มังกร” ที่ต่อยอดการพัฒนาจากของเยอรมนี และผลิตเป็นมาตรฐานของตนเองภายในประเทศด้วยระบบที่ดีกว่า

 

โดยไฮไลต์นวัตกรรมสำคัญได้แก่ ระบบ “รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าในท่อ” (Vacuum Tube Train) หรือในชื่อย่อว่า “แว็คเทรน” (Vactrain) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดง ที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจีนคิดค้นขึ้น

จากการเปิดเผยของหนึ่งในสมาชิกโครงการที่อยู่ในสังกัดของ CASIC ผ่านซีซีทีวี (CCTV) กระบอกเสียงหลักของจีนก็พบว่า ทีมงานได้ผ่านการทดสอบระบบของรถไฟตัวใหม่ดังกล่าวในระยะแรก ที่เมืองต้าถง มณฑลซานซี ในพื้นที่ตอนกลางของจีน

โดยรถไฟใหม่นี้เป็นการพัฒนาระบบการขนส่งยุคใหม่ของจีน ที่ผนวกเอาเทคโนโลยีด้านรถไฟและอวกาศเข้าไว้ด้วยกัน และจะสามารถวิ่งด้วยความ เร็ว 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ด้วยความเร็วดังกล่าว ก็คาดว่า Vactrain จะทำให้การเดินทางระหว่างหัวเมืองของจีนรวดเร็วยิ่งขึ้นมาก และเชื่อมหัวเมืองเศรษฐกิจของจีนเข้าด้วยกันเป็น “เศรษฐกิจไข่แดงแฝด” ได้ในอนาคต

โดยในชั้นนี้ มี 6 คู่เมืองในจีนที่ได้เสนอตัวเป็นเส้นทาง “นำร่อง” ที่จะเริ่มก่อสร้างและทดลองใช้ระบบรถไฟลํ้าสมัยดังกล่าว อาทิ ปักกิ่ง-สือเจียจวง (Beijing-Shijiazhuang) กวางโจว-เซินเจิ้น (Guangzhou-Shenzhen) และเฉิงตู-ฉงชิ่ง (Chengdu- Chongqing)

จากการประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยอาศัยหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหนาแน่นของประชากร กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่มีอยู่เดิม รวมทั้งสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบ และความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคที่สูง

โดยในชั้นนี้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า เซี่ยงไฮ้-หังโจว (Shanghai-Hangzhou) จะได้รับการคัดเลือกให้ เป็นเส้นทางแรกที่จีนจะเริ่มทดลองใช้รถไฟตัวใหม่นี้ 

เหตุผลเป็นเพราะเซี่ยงไฮ้ถือเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นและมีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน ขณะที่ หังโจว ก็ได้รับการจัดชั้นเป็นเมืองเอกที่มีศักยภาพยุคใหม่อันดับต้นๆ  ของจีน ซึ่งทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ในทางการเงินสูง 

ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้ ก็เป็นเมืองเดียวของจีนที่มีรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าให้บริการในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แถม Maglev ตัวใหม่ที่จะให้บริการด้วยความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเปิดให้บริการระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เป็นเส้นทางแรก รวมทั้งยังมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม

ผมลองนึกย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการ การเดินทางโดยรถยนต์ระหว่าง เซี่ยงไฮ้-หังโจว ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ขณะที่ 10 ปีที่แล้ว การเดินทางโดยรถไฟฯ สูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง และในเวลาต่อมา ก็ลดเหลือเพียง 42 นาทีด้วยรถไฟฯ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แถมมีรถไฟฯให้บริการทุกชั่วโมง

แต่จีนไม่ได้หยุดการพัฒนาเพียงแค่นั้น ด้วยระบบ Vactrain ดังกล่าว การเดินทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-หังโจว จะใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น!!! 

ในด้านเทคโนโลยี นอกเหนือจากแรงเสียดทานที่รางของ Maglev แล้ว เทคโนโลยีของ Vactrain ที่อยู่ในท่อที่เป็นสุญญากาศ ก็ยังไร้การเสียดทานของตัวรถไฟ กับ อากาศภายนอก และลดเสียงรบกวน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรถไฟแบบเดิม นอกจากนี้ ระบบ Vactrain ใหม่นี้ ยังทำให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

หลังจากนี้ ทีมวิจัยของโครง การดังกล่าว จะทดสอบระบบ Vactrain ในระยะทางยาวขึ้นและความเร็วที่สูงขึ้นทดสอบความน่าเชื่อถือของระบบโดยรวม

อนึ่ง จากสถิติ ณ ปลายปี 2022 จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะทาง 42,000 กิโลเมตร มากเป็นอันดับที่หนึ่งของโลก ควบคู่ไปกับความต้องการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ 

ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว จีนคาดว่าจะสามารถเพิ่มความเร็วของ Vactrain จากชั่วโมงละ 1,000 กิโลเมตร เป็น 2,000 กิโลเมตร และ 4,000 กิโลเมตร ได้ในที่สุด 

จากการทดสอบ Maglev ตัวนี้สามารถทำความเร็วได้ถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังไม่ทันที่ Maglev ตัวนี้จะเริ่มเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ระหว่าง ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เป็นเส้นทางแรก ล่าสุด จีนก็เปิดตัวรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าระบบใหม่ที่ “ก้าวลํ้า” อีกแล้ว...

 

 

จีนเปิดตัวรถไฟไวกว่าเครื่องบิน

 

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา บริษัทวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมอวกาศแห่งชาติจีน (China Aerospace Science and Industry Corporation) ได้จัดงานนิทรรศการใหญ่ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อนำเสนอผลงานการวิจัยและพัฒนาสำคัญที่จีนคิดค้นขึ้น 

หากเกิดขึ้นจริง รถไฟ Vactrain ของจีนในยุคหน้าจะให้บริการด้วยความเร็วกว่า 10 เท่าของรถไฟความ เร็วสูง และถึง 5 เท่าของความเร็ว เครื่องบินโดยสารในปัจจุบัน 

อดใจรออีกหน่อย คาดว่าเส้นทาง เซี่ยงไฮ้-หังโจว จะใช้เวลาในการก่อสร้างไม่กี่ปี ผมเริ่มนึกไม่ออกแล้ว ว่า สภาพบ้านเมืองและเศรษฐกิจระหว่างเซี่ยงไฮ้-หังโจว จะเปลี่ยนไปเป็นเช่นไรกัน...