รถยนต์ไร้คนขับในจีน ... มาเร็วกว่าที่คิด (3)

05 เม.ย. 2566 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 12:02 น.

รถยนต์ไร้คนขับในจีน ... มาเร็วกว่าที่คิด (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3876

เราไปคุยกันต่อว่ามาถึงวันนี้ จีนพัฒนา AVs ไปถึงไหนกันแล้ว และแบรนด์ AVs เข้ามาแข่งขันในท้องตลาดมากน้อยขนาดไหน และอยู่ในรูปแบบใดบ้าง ...

อย่างที่ผมเคยเกริ่นไปว่า รัฐบาลกลางได้กำหนดนโยบายและบรรจุเรื่อง AVs ไว้ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) ซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างระบบนิเวศและออกกฎหมายรองรับการใช้ AVs เพิ่มขึ้นโดยลำดับ และส่งผลให้จีนดึงดูดและพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องชั้นนำให้มีการลงทุนอย่างรวดเร็ว

อาทิ ระบบการตรวจจับแสงและระยะห่าง (Light Detection and Ranging) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “LiDAR” (ลิดาร์) อุปกรณ์เซ็นเซอร์ ชิป และระบบช่วยผู้ขับขี่ที่ล้ำสมัย (Advanced Driver-Assistance Systems) หรือ “ADAS” สำหรับ AVs

จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลท้องถิ่นของจีนได้อนุญาตให้จัดตั้งเขตนำร่อง AVs ในหลายสิบเมืองและเพิ่มระดับ “ความอัตโนมัติ” มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้นำ” ในวงการ AVs โลก และคาดว่าจะโดดเด่นยิ่งขึ้นในระยะยาว

การใช้รถยนต์ที่มีระดับอัตโนมัติที่ต่ำกลายเป็นเรื่องดาษๆ ในชั่วกระพริบตา รายงานของ International Data Corporation ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2/2022 รถยนต์ไร้คนขับระดับ L2 (ที่ควบคุมพวงมาลัยและความเร็ว) แตะระดับการเข้าถึง (Penetration Rate) 26.2% ในจีน

แถมล่าสุดรัฐบาลของหลายหัวเมืองใหญ่ในจีน อาทิ กวางโจว และเซินเจิ้น ยังได้เปิดให้นำเอารถบัสไร้คนขับขนาด 7 ที่นั่งมาให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการกันแล้ว

คำถามถัดมาก็คือ วันนี้มีใครบ้างที่เป็นผู้เล่นหลักในวงการ AVs ที่น่าสนใจ รายแรกที่ผมอยากจะกล่าวถึงก็ได้แก่ อพอลโล (Apollo) ของไป่ตู้ (Baidu) ที่เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 ซึ่งถือว่าเป็น “คลื่นลูกแรก” ของวงการในจีน

การเริ่มเข้าสู่ตลาดก่อนทำให้อพอลโลก้าวขึ้นเป็นผู้นำของระบบขับขี่อัตโนมัติและช่วยเหลือผู้ขับขี่ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ “ตัว” (Duer) บริการเรียก AVs และการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ

อพอลโลได้รับประโยชน์อย่างมากจากบิ๊กดาต้าของคำถาม ภาพถ่าย วิดีโอ และข้อมูลตำแหน่งที่ไป่ตู้มีอยู่ในมือ เพราะช่วยให้เอไอสามารถทดสอบทดลองสถานการณ์บนถนนต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ อพอลโลยังผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ AVs อย่างมากมาย และ ณ สิ้นปี 2022 บริษัทฯ ก็ได้ทดสอบทดลองการขับขี่เป็นระยะทางรวมถึง 25 ล้านกิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองใช้ในกรุงปักกิ่งที่เริ่มทดสอบกันมานับแต่ปี 2018

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์มากมายในจีน อาทิ Ford และ Toyota ของต่างชาติ และ SAIC, GAC, Great Wall, Weltmeister และ Geely ของจีน รวมทั้ง Jidu กิจการแบรนด์รถยนต์ไร้คนขับที่ไป่ตู้จับมือเป็นหุ้นส่วนด้วย  

และนี่เองที่เปิดโอกาสให้บริษัทขยายธุรกิจไปยังแพล็ตฟอร์มบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับภายใต้แบรนด์อพอลโล โก (Apollo Go) และเริ่มให้บริการในกรุงปักกิ่งนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 โดยทำสถิติให้บริการทั่วจีนมากกว่า 1 ล้านครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 

                        รถยนต์ไร้คนขับในจีน ...  มาเร็วกว่าที่คิด (3)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับใบอนุญาตบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับรายแรกในจีน และคาดว่าจะมีรถแท็กซี่ไร้คนขับแตะหลัก 100,000 คันในปี 2023

อีกรายที่กำลังมาแรงก็ได้แก่ วีไรด์ (WeRide) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 ณ นครกวางโจว จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้พัฒนาความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย อาทิ Nissan และ GAC และได้ขยายบริการโรโบแท๊กซี่ระดับ L4 ที่ลูกค้าสามารถเรียกใช้บริการผ่านแอพวีไรด์ได้

บริษัทฯ ยังพัฒนา AVs ในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมินิบัสไร้คนขับ (Mini Robobus) รถแวนขนส่งสินค้าไร้คนขับ (Robovan) และรถกวาดถนนไร้คนขับ (Robo Street Sweeper) 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขยายความร่วมมือกับ Bosch ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำสัญชาติเยอรมนี และ Horizon ผู้ผลิตหุ่นยนต์ของจีน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบปฏิบัติการระดับ L4 ของ AVs

ประการสำคัญ วีไรด์ยังขยายชื่อเสียงต่อไปอีกเมื่อกลายเป็นรายแรกที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการรถบัสไร้คนขับในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมกราคม 2023 

จนถึงปัจจุบัน วีไรด์ได้ให้บริการ AVs ในกว่า 25 เมืองทั่วจีน คิดเป็นระยะทางรวมกว่า 13 ล้านกิโลเมตรแล้ว ส่งผลให้มูลค่าบริษัทพุ่งทะยานเป็นกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อีกแบรนด์หนึ่งที่โด่งดังอย่างรวดเร็วก็ได้แก่ ออโต้เอ๊กซ์ (AutoX) บริษัทฯ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2016 โดยมีเซียว เจี่ยนสวง (Xiao Jianxiong) ผู้ก่อตั้ง Computer Vision and Robotics Labs แห่งมหาวิทยาลัยปริ๊นซ์ตันที่ผู้คนนิยมเรียกว่า “โปรเฟสเซอร์เอ๊กซ์” (Professor X) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจาก “Dongfeng” ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดกลางและรถบรรทุก Alibaba และ Softbank รวมทั้งขยายความร่วมมือกับหลายค่ายรถยนต์ อาทิ Ford และ Chrysler แห่งสหรัฐฯ SAIC, BYD และ Chery ของจีน

ออโต้เอ๊กซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้กลายเป็นกิจการที่มีรถแท๊กซี่ไร้คนขับที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย โดยทะยานทะลุหลัก 1,000 คันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 

หากท่านผู้อ่านเดินทางไปเยือนหัวเมืองในจีน อาทิ เซินเจิ้น กวางโจว ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ก็อาจได้มีโอกาสเรียกใช้บริการแท๊กซี่ไร้คนขับของบริษัทฯ ขณะเดียวกัน ในปี 2022 บริษัทฯ ก็มีการทดลองระบบในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นระยะทางกว่า 80,000 กิโลเมตร

ไห่รุ่น เทคโนโลยี (Hirain Technologies) ซึ่งโด่งดังมากจากการเป็นซัพพลายเออร์กล้องหน้ารถแห่งกรุงปักกิ่ง ก็ต่อยอดธุรกิจจนก้าวขึ้นเป็นดาวรุ่งในวงการ AVs ของจีน ทั้งที่กิจการมีอายุเพียง 10 ปี 

บริษัทฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้จัดหาบริการเทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรระดับโลก ซัพพลายเออร์ระบบการสื่อสารของ AVs และบริการขนส่งยุคใหม่ 

ในช่วงหลายปีหลัง บริษัทฯ ได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานการผลิตที่ล้ำยุคในเทียนจินและหนานทง ซึ่งเป็นฐานการวิจัยและพัฒนา การผลิต การตลาด และระบบบริการที่ครบวงจร ส่งผลให้บริษัทออกแบบโมเดลธุรกิจที่ขายตรงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ บริการด้านการวิจัยและพัฒนา และระบบขับขี่อัจฉริยะไปยังผู้ผลิตยานยนต์ของจีน 

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีลูกค้ารายใหญ่หลายราย อาทิ FAW, SAIC และ BAIC ซึ่งไปจับมือต่อกับออโต้เอ๊กซ์ และวีไรด์ในอีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังมีผลงานที่เป็นรูปธรรมและจับต้องในหลายส่วน อาทิ การให้บริการฝูงรถบรรทุกไร้คนขับในท่าเรือรื่อจ้าว (Rizhao) มณฑลซานตง

ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่น่าสนใจ แต่ต้องเก็บไว้คุยต่อกันในตอนต่อไปครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน