2564 บีโอไอบุก !!! ดึงลงทุนเชิงรุก 5 ด้าน

14 ธ.ค. 2563 | 07:34 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2563 | 14:59 น.
1.4 k

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ ฉายภาพการลงทุนในประเทศไทย และทิศทางแนวโน้มปี 2564 จุดยืนในการส่งเสริมการลงทุนของไทยจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น

ตลอดปี 2563 แม้อยู่ในช่วงวิกฤติโควิด แต่นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและให้ความสนใจลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนเป็นเรื่องการวางแผนธุรกิจระยะยาว แต่ระหว่างทางก็ยังเผชิญอุปสรรคโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ในท่ามกลางวิกฤติแบบนี้ บีโอไอยังมองเห็นโอกาสอะไรบ้างด้านการส่งเสริมการลงทุน  นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอฉายภาพรวมพร้อมจุดยืนในการส่งเสริมการลงทุนปี 2564 ไว้อย่างน่าสนใจ

 

-9 เดือนตอบโจทย์ลงทุนยังสูง

 รองเลขาธิการบีโอไอมองว่า ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา บีโอไอยังมีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนมากถึง 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีก่อน และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 223,700 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยในแง่การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI  ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน  ขณะที่พื้นที่ EEC ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน มีจำนวน 313 โครงการ เงินลงทุน 109,430 ล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด    

 

นอกจากนี้อีกตัวเลขหนึ่งที่ส่งสัญญาณที่ดีคือ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้จะเกิดการลงทุนจริงมากที่สุด จากตัวเลขการออกบัตรส่งเสริมในช่วง 9 เดือนแรก เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 1,035 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และมีเงินลงทุน 331,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 เป็นสัญญาณที่ดีว่าในปีหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

 

นอกจากนี้ มาตรการต่าง ๆ ที่บีโอไอออกมาใหม่ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ ครอบคลุมทุกประเภททั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า การเปิดส่งเสริมกิจการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร กิจการวิจัยทางคลินิก และกิจการ IPO  บวกกับมาตรการที่มีอยู่เดิม เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุน มาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มาตรการส่งเสริม SMEs มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในปี 2564 

 

-จับตาลงทุนเอกชน

อย่างไรก็ตามปี 2564 การลงทุนของภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญใน 2 เรื่อง คือ1.จะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะเม็ดเงินลงทุนจะทำให้เกิดการจ้างงาน การส่งออก และการเคลื่อนตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา อย่างที่สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ฟื้นตัวจากการลดลงร้อยละ 8.9 ในปี 2563  และ 2.บีโอไอจะใช้การลงทุนของภาคเอกชนเป็นตัวนำในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  จะใช้วิกฤติโควิดในการสร้างโอกาสให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง สร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ แทนที่จะพึ่งพาสินค้าส่งออกหลักไม่กี่ชนิด และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บีโอไอชี้จุดแข็งไทยไม่เป็นรอง มั่นใจ FDI ปี 64 ฟื้น

ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP

แนะ “บีโอไอ”เลียนโมเดล 3 ชาติ ดันทัพไทยลงทุนนอก

2564 บีโอไอบุก !!! ดึงลงทุนเชิงรุก 5 ด้าน

 

-ปี 2564 เน้นดึงทุนเชิงรุก

สำหรับทิศทางส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 บีโอไอจะขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนให้เป็นกลไกสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเน้นดึงการลงทุนเชิงรุกใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ   

   

1.ต่อยอดอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงและเป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และการแพทย์  ในส่วนของเกษตรและอาหาร จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตร การยกระดับสู่มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน GAP, การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability), ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ การทำระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) การทำโรงงานผลิตพืชผัก (Plant Factory) การผลิตสารสกัดหรือสารออกฤทธิ์ เป็นต้น   ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์ จะต่อยอดไปสู่การเป็น Medical Hub ที่สมบูรณ์ จากการที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ามีมาตรฐานด้านสาธารณสุขที่ดี สามารถควบคุมโรคโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ บีโอไอจะต่อยอดอุตสาหกรรมการแพทย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการส่งเสริมกิจการด้านการแพทย์ในปัจจุบัน ทั้งฝั่งการผลิต เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ รวมทั้งวัตถุดิบต่างๆ และฝั่งบริการ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบให้เปิดส่งเสริมกิจการใหม่ๆ คือ กิจการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) และกิจการบริการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร นอกจากนี้ บีโอไอกำลังร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อเสนอบอร์ดเพิ่มเติมในครั้งต่อไปด้วย

 

2.สร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่  นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นจุดแข็งของไทยแล้ว บีโอไอยังเดินหน้าเจาะกลุ่มบริษัทเป้าหมายรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการดึงนักลงทุนรายสำคัญ (Anchor investors) เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรม และเป็นแม่เหล็กดึงผู้ลงทุนรายอื่นๆ หรือซัพพลายเออร์ให้ตามเข้ามาลงทุนในอนาคต โดยจะเน้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น กลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อากาศยานและชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น Data center, Cloud services และเทคโนโลยี 5G ก็จะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวอีกมาก 

 

3.ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ  ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ บีโอไอจะใช้จุดแข็งเหล่านี้ในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตั้งแต่เปิดส่งเสริมกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ในช่วงปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับการส่งเสริมแล้วกว่า 70 โครงการ และเมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบให้เปิดส่งเสริมกิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ (IPO) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค นอกจากนี้ บีโอไออยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขยายขอบข่ายของกิจการ IBC ให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ที่จะสนองตอบต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย

 

4.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับธุรกิจ มาตรการหนึ่งที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก คือ การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้โอกาสในช่วงวิกฤติโควิดลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเติบโตเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป โดยการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย หรือการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล (Automation and Digitalization) เข้ามาใช้ในการผลิต บริการ และการบริหารคลังสินค้า รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือก๊าซชีวภาพ โดยในช่วง 9 เดือนของปีนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพจำนวน 138 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และมีมูลค่าเงินลงทุน 15,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมองเห็นความจำเป็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้น

 

5.ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทย พร้อมกับดึงดูดกลุ่มผู้มีทักษะสูงหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศไทย  กลยุทธ์ของบีโอไอจากนี้ไปจะไม่เพียงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คน” และการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงจากทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพให้เข้ามาอยู่ในไทยและช่วยเราพัฒนาประเทศ โดยกำลังเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงมาตรการ Smart Visa ให้จูงใจและมีขอบข่ายที่ครอบคลุมบุคลากรทักษะสูงในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าหลังวิกฤติโควิด ประเทศไทยจะเป็นที่หมายตาของทั้งนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจำนวนมาก

 

2564 บีโอไอบุก !!! ดึงลงทุนเชิงรุก 5 ด้าน

-ดันบีโอไอ 16 แห่งเจาะรายใหม่

ส่วนกลยุทธ์ที่จะใช้ในการดึงการลงทุนในปี 2564  ถึงแม้มีอุปสรรคในการเดินทางเข้า-ออกประเทศช่วงสถานการณ์โควิด แต่บีโอไอก็ยังเดินหน้าทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับกิจกรรมดึงการลงทุนมาเป็นรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ โดยงานเชิงรุกในพื้นที่ สำนักงานต่างประเทศของบีโอไอทั้ง 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ เป็นทัพหน้าสำคัญในการเจาะกลุ่มบริษัทเป้าหมายรายใหม่ๆ ใช้หลายยุทธวิธีทั้งการเดินทางไปพบแบบ knock door การประชุมแบบออนไลน์สำหรับประเทศที่ยังมีการระบาดหนักอยู่ นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรและหอการค้าต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานฝั่งไทย เช่น สำนักงานอีอีซี สวทช. และ กนอ. จัด Webinar ทั้งรายประเทศและรายอุตสาหกรรม เพื่อหมั่นอัพเดตข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและมาตรการต่างๆ ของไทยให้นักลงทุนได้รับรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในสายตา และชี้ให้นักลงทุนเห็นศักยภาพและโอกาสการลงทุนในไทย

 

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ออกแคมเปญประชาสัมพันธ์ใหม่ในชื่อว่า “Think Resilience, Think Thailand” เพื่อสื่อสารจุดแข็งของประเทศไทยว่ามีขีดความสามารถในการปรับตัวและจัดการกับวิกฤติทุกครั้งที่ผ่านมา โดยสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับมายืนหยัดด้วยความแข็งแกร่งกว่าเดิมทุกครั้ง และตอกย้ำว่าไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนระยะยาวที่ดีที่สุดของภูมิภาค ที่ผ่านมาได้ทยอยผลิตสื่อภายใต้ธีมนี้ เช่น วิดีโอ บทความ และสื่อโฆษณา ลงประชาสัมพันธ์ในสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อชั้นนำ เช่น CNN, Bloomberg, The Economist, Wall Street Journal รวมทั้งสื่อหลักในประเทศเป้าหมาย เช่น Nikkei ของญี่ปุ่น South China Morning Post ของฮ่องกง Maeil ของเกาหลี  Economic Daily News ของไต้หวัน และ Handelsblatt ของเยอรมนี 

 

2564 บีโอไอบุก !!! ดึงลงทุนเชิงรุก 5 ด้าน

 

จุดแข็งของประเทศไทยคือ การมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เมื่อเร็วๆ นี้ US News ก็เพิ่งประกาศผลการจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับ 1 ในการเริ่มต้นธุรกิจ และเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 2 ของโลก เรามีจุดขายที่มีความได้เปรียบคู่แข่งหลายด้าน เช่น มีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคและมีโครงข่ายคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดที่มีการเติบโตสูงใน CLMV  มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่เป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมสำคัญ อีกทั้งประเทศไทยมี Supply Chain ที่ครบวงจร มีบุคลากรคุณภาพสูง มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกิจ และยังมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ ทั้งหมดนี้ทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่ดีที่สุดของภูมิภาค ”