เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’

19 ก.ค. 2563 | 11:00 น.
2.0 k

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’ : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3593 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

เอามั้ย! พรบ. ‘สภาเอสเอ็มอี’

อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’
 

     ในสถานการณ์ที่คุกรุ่นทางการเมืองให้ปวดขมับก็ยังมีเรื่องหนึ่งที่ดีดี๊ดี แต่ไม่ค่อยมีคนมาสนใจ คือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนึ่ง เสนอร่างพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย พ.ศ. ....ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายการเงิน ผมเข้าใจว่า คุณสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน จะเป็นแกนนำ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปใน https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=81 มาตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 แล้ว
 

     ผมเห็นว่า เรื่องนี้เป็นมิติที่ดีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะมีสภาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็กได้มีโอกาสสะท้อนปัญหา และสามารถยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า  3 ล้านราย มีการจ้างงานคนอยู่ราว 11 ล้านคน จะได้มีที่พึ่ง ใครที่สนใจไปแสดงความเห็นเห็นเข้าไปเสนอแนะได้
 

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’
 

     กฎหมายนี้จะคลอดออกมาได้หรือไม่ หน้าตาจะเป็นอย่างไร อย่าให้ส.ส.คิดเอง แต่ต้องมาจากผู้ประกอบการ จึงจะแก้ปัญหาคนตัวเล็ก ที่ติดขัดในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน องค์ความรู้ ต่างๆ แต่ในมาตรา 75 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่กิจการวิสาหกิจขนาดย่อม และขนาดกลาง ให้มั่นคงและเจริญเติบโต

     แต่จนถึงปัจจุบัน การส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐต่อภาควิสาหกิจ ขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ยังไม่ทั่วถึง และไม่ตรงต่อปัญหาที่ประสบอยู่ ก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินการเป็นอย่างมาก อาทิ การผลิต การจำหน่าย การตลาด การให้บริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน การส่งเสริมแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ
 

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’
 

     เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังไม่มีองค์กรกลางของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือปัญหาดังกล่าว
 

     แม้ว่าขณะนี้จะมี สภาผู้ก่อตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้จัดตั้งขึ้นมา รวมกลุ่มกันทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว แต่ควรมีการจัดตั้งเป็นองค์กรตามกฎหมาย เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการวิสาหกิจ
 

     ร่างพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและขนาดย่อยไทย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
 

     1. บทนิยามที่สำคัญ “วิสาหกิจ” หมายความว่า การประกอบการผลิตสินค้า การ ให้บริการ การค้าส่ง การค้าปลีก หรือการอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม การค้า การบริการ และการเกษตร โดยแบ่งตามหลักสากล กำหนดจากขนาดของการลงทุน คือ ขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย
 

     “สภา” หมายความว่า สภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย
 

     “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย
 

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’
 

     2. การจัดตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ให้มีการจัดตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทยขึ้นเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐนำไปสู่การปฏิบัติของภาคประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของภาครัฐ
 

     สภาฯนี้จะเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในทางการค้า การลงทุน เป็นศูนย์กลางด้านการให้คำปรึกษา แนะนำและช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการ พัฒนามาตรฐานการผลิต การจำหน่าย และการบริการ ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าสากล รับรองคุณภาพและระบบประกันคุณภาพ อนุรักษ์และเผยแพร่ผลิตผลหรือคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์และความเป็น การพัฒนา ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง อบรม และเผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิสาหกิจแก่สมาชิกและผู้ประกอบการ
 

     สภาฯจะต้องส่งเสริมให้มีการจัดกลุ่มสมาชิกหากเป็นวิสาหกิจชนิดหรือประเภทเดียวกัน เรียกว่า “กลุ่มวิสาหกิจ” หรือหากเป็นวิสาหกิจในท้องที่เดียวกันหรือข้างเคียงกัน เรียกว่า “กลุ่มท้องที่”
 

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’
 

     3. สมาชิก สภามี 3 ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์
 

 สมาชิกสามัญ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยมีจำนวนกรรมการและผู้ถือหุ้นซึ่งมีสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งหรือของจำนวนกรรมการและผู้ถือหุ้นที่มีอยู่
 

     สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ สมาคมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสมาคมที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายต่างประเทศ แต่กรรมการและสมาชิกจำนวนเกินกึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย นอกจากนี้ บุคคลซึ่งมีผลงานทางวิชาการก็สามารถเป็นสมาชิกวิสามัญได้ หากเป็นผลงานเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือการส่งเสริมวิสาหกิจ ฯ
 

     สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่สามสิบห้าปีขึ้นไปและมีความรู้ ประสบการณ์ หรือความสามารถในด้านการพัฒนา การส่งเสริม การวิจัยหรือการสอนการประกอบการวิสาหกิจ
 

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’

     4. คณะกรรมการประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่เกิน 35 คน มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ ให้คำปรึกษาแนะนำสมาชิกในการประกอบวิสาหกิจ
 

     5. การดำเนินกิจการของสภา ประธานกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมสภาสามัญอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง นอกจากการประชุมสามัญแล้วอาจมีการประชุมวิสามัญได้ การประชุมสามัญหรือวิสามัญต้องมีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน จึงจะเป็นองค์ประชุม
 

     6. รายได้ของสภา รายได้สภาได้มาจากค่าสมัคร ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม และค่าบริการจากสมาชิก เงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้เงินที่ผู้ประกอบการจ่ายชดใช้คืน เงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐ และดอกผลของเงินและทรัพย์สินดังกล่าวในการบริหารจัดการเงินและทรัพย์สินของสภานั้น หากคณะกรรมการเห็นสมควร อาจจัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อบริหารจัดการก็ได้ ดอกผลของเงินและทรัพย์สินไม่เกินสามในสี่ที่ได้รับอาจนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานหรือกองทุนก็ได้
 

     สำนักงานต้องจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีแสดงการใช้จ่ายเงินของสำนักงานเสนอ ต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปี
 

เอามั้ย พรบ.‘สภาเอสเอ็มอี’ อำนาจต่อรอง ‘เถ้าแก่ตัวเล็ก’
 

     7. การส่งเสริมของรัฐ รัฐบาลต้องกำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการเจริญเติบโตและมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ให้การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและผู้ประกอบการในการขออนุมัติ ขออนุญาต หรือขอรับบริการได้โดยรวดเร็วและเป็นธรรม
 

     8. ความรับผิดของคณะกรรมการ สภา คณะกรรมการ หรือกรรมการกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาหรือเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรรมการทั้งคณะหรือกรรมการคนใดคนหนึ่ง พ้นจากตำแหน่งได้ภายในสามสิบวัน และเมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งแล้ว รัฐมนตรีมีหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราว ซึ่งมาจากสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ชั่วคราว
 

     9. บทกำหนดโทษ ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มีโทษจำคุก มีแต่โทษปรับ โดยหากผู้ใดกระทำการผิด วัตถุประสงค์ของสภา หรือเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และรัฐมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าว ผู้นั้นต้องระวาง โดยปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 

     ท่านเห้นด้วยหรือไม่กับการตั้งสภา ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการทำหน้าที่ขององค์กรนี้ ไปแสดงความคิดเห็นกัน เร็ว!