บัณฑิตตกงาน ปัญหาเร่งด่วนในตลาดแรงงานไทย?

30 พ.ย. 2562 | 09:00 น.
6.7 k

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนาจุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562

 

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ของตลาดแรงงานไทยที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ เรื่องบัณฑิตตกงาน หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้มีการรายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบัณฑิตตกงานจำนวนสูงถึง 3.7 แสนคน และมีนาคมปีหน้าจะมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอีกกว่า 3 แสนคน โดยคาดว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้จะตกงาน ซึ่งก็หมายความว่า ต้นปีหน้าประเทศไทยจะมีบัณฑิตตกงานกว่า 5 แสนคน ภาครัฐก็ได้มีโครงการบัณฑิตอาสาที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานของแรงงานกลุ่มนี้ โดยจะมีการจ้างบัณฑิตจบใหม่ประมาณ 5 หมื่นคน ให้ไปพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเป็นเวลา 1 ปีและได้รับเงินเดือน 1-1.5 หมื่นบาท

ด้วยจำนวนตัวเลขการว่างงานของบัณฑิตที่มีการอ้างอิงนั้นอยู่ในระดับสูงมาก ผู้เขียนจึงมีความสนใจศึกษาประเด็นนี้ โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในรอบล่าสุด เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า ตามรายงานข้อมูลสถิติสภาพตลาดแรงงานไทยอย่างเป็นทางการ แรงงานผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 37 ล้านคน จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด (รวมทุกระดับการศึกษา) 3.55 แสนคน สามารถแบ่งแยกออกมาเป็นกลุ่มบัณฑิต (หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย) จำนวน 1.46 แสนคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2019) ซึ่งตัวเลขบัณฑิตตกงานที่มีการอ้างอิงในรายงานข่าวข้างต้นนั้น มีจำนวนสูงกว่าตัวเลขสถิติที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการของสำนักงานสถิติแห่งชาติถึง 2.5 เท่า

นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราการว่างงานโดยรวมในประเทศไทยซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างตํ่ามาโดยตลอดเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีแรงงานกลุ่มใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal Sector) อัตราการว่างงานของไทยในช่วงเดือนตุลาคมอยู่ที่ 0.9% และหากพิจารณาแบ่งตามระดับการศึกษา อัตราการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ในระดับสูงจริง คือ 1.8% และแม้ว่า จะสูงกว่าระดับการศึกษาอื่นๆ แต่ก็ยังตํ่ากว่าอัตราการว่างงานของกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา ซึ่งอยู่ที่ 2.1%

บัณฑิตตกงาน  ปัญหาเร่งด่วนในตลาดแรงงานไทย?
 

ดังนั้น ในความคิดเห็นของผู้เขียน การว่างงานของบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แม้ว่าจะอยู่ในระดับสูงจริงและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ตลาดแรงงานไทยก็ยังมีอีกปัญหาหลักที่ผู้เขียนคิดว่า ภาครัฐควรให้ความสนใจและเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง คือ ปัญหาความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงานไทย (Mismatch in Thai Labor Market) ซึ่งยังไม่มีตัวเลขสถิติรายงานอย่างเป็นทางการออกมาและหากไม่มีการแก้ไข จะทำให้ปัญหาการว่างงานของบัณฑิตในตลาดแรงงานมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปอีกในอนาคต

ผู้เขียนได้มีงานวิจัย 2 เรื่องที่ได้ศึกษาประเด็นนี้ พบว่า ประเทศไทย ปัจจุบันมีปัญหาความไม่สอดคล้องกันในแนวตั้ง (Vertical Mismatch) คือ แรงงานผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีการทำงานในงานที่ต้องการวุฒิหรือทักษะที่ตํ่ากว่าระดับการศึกษาที่แรงงานได้รับ และยังพบอีกว่า แรงงานอายุน้อยที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานจะเจอปัญหานี้ในระดับสูงมาก (Paweenawat and Vechbanyongratana, 2015) ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาความไม่สอดคล้องกันในแนวนอน (Horizontal Mismatch) คือ แรงงานผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) มีการทำงานตรงตามสาขาที่ สำเร็จมาเพียง 25% เท่านั้น (Paweenawat and Vechbanyongratana, 2019) โดยจากทั้ง 2 กรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิด Wage Penalty ซึ่งก่อผลเสีย อย่างมากในกลุ่มแรงงานที่มีการ Mismatch เกิดขึ้น

ดังนั้น การที่ภาครัฐได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาบัณฑิตตกงานผ่านโครงการดังกล่าว แม้ว่าจะถือเป็นโครงการที่ดีในการที่จะช่วยให้บัณฑิตให้มีงานทำ แต่ผู้เขียนเห็นว่า เป็น การแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ปัญหาหลักที่รัฐควรให้ความสนใจและเร่งแก้ไขจริงจัง คือ ปัญหาความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงาน ซึ่งก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการว่างงานในกลุ่มบัณฑิตทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต และเป็นการแก้ไขเพื่อผลในระยะยาว โดยแนวทางแก้ไขนั้น ควรเป็นการมองทั้งระบบ ไม่เพียงแต่ในตลาดแรงงาน จำเป็นต้องพิจารณาเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาที่เป็นหน่วยผลิตทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาคเอกชนและภาครัฐที่เป็นหน่วยการจ้างแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นโยบายการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยเชื่อมโยงทุกภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกันแก้ปัญหา น่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานที่ยั่งยืนมากกว่า

อ้างอิง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2019) สรุปผลการสำรวจ ภาวะการทำงานของประชากร เดือนตุลาคม .. 2562 (http://www.nso.go.th)

• Paweenawat, S.W. and Vechbanyongratana, J. (2015) “Wage Consequences of Rapid Tertiary Education Expansion in a Developing Economy: The Case of Thailand,” The Developing Economies, 53 (3): 218–231

• Paweenawat, S.W. and Vechbanyongratana, J. (2019) “Private Returns to STEM Education and Implications for Middle-Income Trap Countries: Evidence from Thailand,” Working Paper 2019

บัณฑิตตกงาน  ปัญหาเร่งด่วนในตลาดแรงงานไทย?