สังคมไทยกับกฎหมาย การจดทะเบียนคู่ชีวิต

09 ม.ค. 2562 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2562 | 20:12 น.
1.1 k
 

มื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย ขั้นตอนต่อไปก็คงต้องรอให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ก่อน กฎหมายฉบับนี้จึงจะประกาศบังคับใช้ได้ นั่นหมายความว่าเราคงต้องรอว่าหลังจากการเลือกตั้งแล้ว สภาฯ จะคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อใด และสุดท้ายแล้วกฎหมายนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องบทความฉบับนี้ไม่ได้มุ่งที่จะเขียนขึ้น เพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด เพราะจริงๆ ท่านผู้อ่านคงได้รับทราบข้อมูลทั้งจากฝั่งที่สนับสนุนและคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้มาพอสมควรแล้ว เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้จัดทำครั้งแรก โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่เมื่อปี 2556 หรือเมื่อกว่า 5 ปีที่ผ่านมา และได้มีการปรับแก้ไขร่างกฎหมายมาเป็นลำดับ

โดยร่างฉบับสุดท้ายที่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดจากประชาชนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น มีกฎหมายอยู่จำนวน 70 มาตรา ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบกับร่างฉบับดังกล่าว โดยมีการปรับลดให้เหลือเพียง 44 มาตรา

จากร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบไปนั้น จะเห็นได้ว่าหลายเรื่องซึ่งเป็นเรื่องหลักๆ ที่กลุ่มผู้เรียกร้องเสนอให้มีการออกฉบับนี้ไม่ได้ถูกนำมากำหนดไว้ในกฎหมายในหลายกรณี เช่น เมื่อคนเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้ว สถานะความเป็นคู่ชีวิต ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุในการลดหย่อนภาษีได้ หากคู่ชีวิตอีกฝ่ายประสบอุบัติเหตุก็ไม่มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ

นอกจากนี้คู่ชีวิตไม่สามารถใช้นามสกุล หรือรับสวัสดิการภาครัฐ หรือตรวจลงตราในวีซ่าในฐานะคู่สมรสได้ เนื่องมาจากการได้สิทธิต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิทธิที่กฎหมายให้กับ “คู่สมรส” ซึ่งกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้การสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถที่จะทำได้ระหว่าง “ชายจริงหญิงแท้” เท่านั้น

ดูเหมือนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดในเรื่องของความเท่าเทียม (Egalitarianism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะพยายามสร้างความเสมอภาคในฐานะมนุษย์ โดยไม่นำเรื่องเพศมาเป็นจุดแบ่งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ทางสังคม จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายนี้น่าจะเป็นก้าวแรกของความพยายามสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) ของไทย เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้คู่ชีวิตมีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิในการจัดการทรัพย์สิน และมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ซึ่งสิทธิและหน้าที่เหล่านี้เดิมกฎหมายกำหนดไว้เป็นเรื่องระหว่างคู่สมรสตามกฎหมาย


แอดฐานฯ

แต่อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้ให้สิทธิในการที่คู่ชีวิตจะรับบุตรบุญธรรม และไม่มีสิทธิมีบุตรด้วยวิธีอุ้มบุญ ซึ่งในส่วนนี้คงมีประเด็นที่น่าพิจารณาว่า ธรรมดาแล้วบุคคลที่ไม่ได้สมรสก็มีสิทธิที่จะรับบุตรบุญธรรมเหตุใดจึงมีการกำหนดห้าม หากบุคคลดังกล่าวมีสถานะเป็นคู่ชีวิตแล้ว และหากกฎหมายออกมาในลักษณะดังกล่าวจริง สุดท้ายคนก็จะใช้วิธีการรับบุตรบุญธรรมก่อนที่จะทำการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งก็ทำให้กฎหมายในส่วนนี้มีช่องให้หลบเลี่ยงได้อยู่ดี

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความคืบหน้าของกฎหมายฉบับนี้ในบ้านเรา แต่ในส่วนต่อไปผมอยากนำเสนอให้เห็นมุมแปลกๆ เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศให้ท่านผู้อ่านได้ทราบบ้าง ตัวอย่างที่ผมจะนำมาเสนอมาจาก 2 ประเทศ ซึ่งแน่ นอนหนึ่งในนั้นก็คือประเทศที่ผมอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้นก็คือ อังกฤษ และประเทศที่ 2 คือ ประเทศกรีซ

ความแปลกของกฎหมายฉบับนี้ในประเทศอังกฤษก็คือ ประเทศนี้มีกฎหมายที่ใช้บังคับกับคนเพศเดียวกันที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันถึง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกก็คือ กฎหมายคู่ชีวิต (Civil Partnership Act 2004) และ กฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกัน (The Marriage (Same Sex Couples) Act 2013) โดยจุดที่ต่างกันหลักๆ ของกฎหมาย 2 ฉบับนี้คือ เรื่องการทำพิธีทางศาสนา และเหตุของการหย่าร้างหรือการแยกทางกันของคู่ชีวิต

แต่เรื่องของสิทธิในเรื่องสวัสดิการของรัฐ อังกฤษให้การคุ้ม ครองไว้ในกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งแตก ต่างจากไทย แต่ที่แปลกก็คือในอังกฤษมีการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่กลับเป็นฝ่ายของชายจริงหญิงแท้ที่ออกมาเรียกร้องความไม่เท่าเทียมนี้ เพราะกลายเป็นว่าปัจจุบันการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกันกลับมีกฎหมายรองรับให้สามารถทำได้ถึง 2 รูปแบบซึ่งมาก กว่ากฎหมายเรื่องการสมรสของชายหญิงปกติ ที่สามารถทำได้ทางเดียวเท่านั้นคือการจดทะเบียนสมรส

ประเทศที่ 2 คือ กรีซ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของประเทศกรีซบัญญัติให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยกฎหมายได้กำหนดให้สิทธิพื้นฐานของคนคือสิทธิในการสมรส และสิทธิในการมีบุตร ด้วยเหตุนี้ประเทศกรีซจึงออกกฎหมายรองรับการอยู่กินกันของคนเพศเดียวกันที่เรียกว่า Cohabitation Agreements และมีแนวโน้มที่จะออกเป็นกฎหมายในลักษณะการสมรสของคนเพศเดียวกันต่อไป

แต่กฎหมายของประเทศกรีซปัจจุบันมีลักษณะเหมือนร่างกฎหมายคู่ชีวิตของไทย คือคู่ชีวิตไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ (same sex adopter) และไม่อนุญาตให้มีลูกด้วยวิธีการอุ้มบุญ ที่ผมกล่าวว่าเป็นเรื่องแปลกเพราะดูแล้วเหมือนว่ากฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญของกรีซ ยอมรับให้บุคคลทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยกำหนดว่าการสมรสและการมีบุตรเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่กลับไม่ให้คนเพศเดียวกันสามารถมีลูกได้ไม่ว่าช่องทางใดก็ตาม ซึ่งในส่วนนี้แตกต่างจากประเทศอังกฤษที่ให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ โดยมีกฎหมายรองรับไว้คือ The Adoption and Children Act 2002

ดูเหมือนว่าประเทศไทยซึ่งกำลังจะเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่จะให้การยอมรับคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน จะเดินรอยตามกฎหมายในหลายๆ ประเทศที่ทำเรื่องนี้มาก่อน เพราะไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ กรีซ หรือเยอรมนี ก็ล้วนแล้วแต่มีการออกกฎหมายในลักษณะของการยอมรับการอยู่กินของ “คู่ชีวิต” โดยให้สิทธิบางประเภท แต่ยังไม่เท่าเทียมกับ “คู่สมรส” ในช่วงแรก

เช่นอังกฤษมีกฎหมายคู่ชีวิตเมื่อปี 2004 และเมื่อคนในประเทศเริ่มปรับตัวและเคยชินกับเรื่องนี้ กฎหมายที่ยอมรับให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ก็จะตามมา โดยอังกฤษได้ออกกฎหมายฉบับต่อมาในปี 2013 ในส่วนนี้ผมมองว่าประเทศไทยก็คงจะเดินตามรอยของประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

อย่างไรก็ตามในฐานะนักกฎหมายผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายไม่ควรออกมาขัดกันให้เป็นปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจออกกฎหมายเรื่องนี้ รัฐควรต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าการที่รัฐยอมรับสถานะของคู่ชีวิตเพศเดียวกันนั้น มาจากหลักอะไร และหากมาจากความเท่าเทียมที่ไม่นำเรื่องเพศมาเป็นจุดแบ่งแยก การที่รัฐกำหนดข้อห้ามในบางเรื่อง จะเป็นเรื่องที่ค้านกับหลักการพื้นฐานที่รัฐนำมาใช้ในการออกกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ หากไม่พิจารณาประเด็นนี้อย่างถ่องแท้ จะกลายเป็นว่ารัฐกำลังสร้างความสับสนให้กับประชาชนในชาติ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซได้

 รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์

      อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

       ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom)

       สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

    หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3433 หน้า 6 ระหว่่างวันที่ 6-9 ม.ค.2562

595959859