9 เทรนด์โลก 2025: โอกาสและความท้าทายของไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน

01 ม.ค. 2568 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2568 | 09:06 น.
583

วิเคราะห์เจาะลึก 9 เทรนด์โลกปี 2025 โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตั้งแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ การมาถึงของยุค AI วิกฤตประชากร จนถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมมุมมองโอกาสและอุปสรรคของประเทศไทย

ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ปี 2025 ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและท้าทาย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้วิเคราะห์และนำเสนอภาพอนาคตผ่าน "9 เทรนด์ของโลก" ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค AI ที่กำลังปฏิวัติทุกภาคส่วน ไปจนถึงวิกฤตประชากรที่ทวีความรุนแรง และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามทั่วโลก 

บทวิเคราะห์นี้ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ แต่ยังเผยให้เห็นโอกาสทองที่รออยู่ หากเรากล้าที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง มาร่วมกันสำรวจว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

สำหรับ "9 เทรนด์ของโลก ปี 2025" โอกาส และอุปสรรคของไทย ประกอบด้วย

1. "เศรษฐกิจโลก ชะลอ" เศรษฐกิจภาพรวม "โตต่ำ" ทั้งโลก เว้นบางประเทศ เช่น เวียดนาม ที่ได้ "แรงส่ง" จากการลงทุนด้านไฮเทคจากต่างประเทศ และ "อินเดีย" ที่มีกำลัง "คนวัยทำงาน" ที่มีทักษะทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ จำนวนมากที่สุดในโลก ได้รับผลบวกเต็มๆ จากเศรษฐกิจยุค AI

โอกาส : การขยาย "ตลาดส่งออก" ไปยังเวียดนามและอินเดีย คือ "เป้าหมาย" ของไทย และหากใช้โอกาสนี้ กลับมาเริ่ม "ปฎิรูปเศรษฐกิจ" เร่งสร้าง "อุตสาหกรรมใหม่" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และลงทุนพัฒนา "คนรุ่นใหม่" เพิ่มทักษะแรงงานขั้นสูง เพื่อการแข่งขันในโลกปัจจุบัน

อุปสรรค : เศรษฐกิจโตต่ำ จะส่งผลกระทบต่อ "การจ้างงาน" "รายได้ประชาชาติ" และ "หนี้สินครัวเรือน" ที่น่ากังวล คือ "ความเชื่อมั่น" จากต่างประเทศในการมา "ลงทุน" สร้างโรงงานหรือสร้างศูนย์วิจัยพัฒนา ทั้งยังทำให้ไทยต้องพึ่งพา "การท่องเที่ยว" เป็นหลัก แม้ได้เงินง่าย แต่เปราะบางมาก

2. "โลกเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ AI " การแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่จะรุนแรงขึ้น เพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยี "ซุปเปอร์ไฮเทค" ทั้ง "ปัญญาประดิษฐ์ AI และ ควอนตัมคอมพิวเตอร์" เพราะโลกกำลังเปิดรับ การใช้เทคโนโลยีไฮเทค ในทุกธุรกิจอุตสาหกรรม

โอกาส : คนไทยจะสนุกกับใช้ App AI ฟรีมากมาย จนเลือกไม่ถูก และอุตสาหกรรมไทยได้รอซื้อเครื่องมือไฮเทคใช้ในการผลิต และในการบริการ

อุปสรรค : ไทยจะเป็น "ผู้ซื้อ" ไม่ใช่ "ผู้ขาย" และอาจตกขบวน เสีย "จังหวะ" ในการเข้าสู่โอกาสใหม่ ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี หากไม่เร่งผลิต "คนทักษะสูง" เข้าสู่เศรษฐกิจยุค AI

9 เทรนด์โลก 2025: โอกาสและความท้าทายของไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน

3. "พลังงานทดแทน มาแรง" การวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทน กำลังออกดอกออกผล เช่น พลังงานไฮโดรเจน หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ "ยุคใหม่" ที่ปลอดภัย และประหยัดกว่าเดิม ทั้งการพัฒนาเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีประสิทธิภาพสูง และ Energy Storage เพื่อ "กักเก็บพลังงาน" ไว้ให้ใช้เพียงพอในยามค่ำคืน 

โอกาส : เทคโนโลยีใหม่ และการ "เปิดเสรี" ด้านพลังงานทดแทน ทำให้คนไทยอาจได้ใช้พลังงานในราคาถูกลง

 อุปสรรค : การ "นำเข้า" ทั้งอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจาก "จีน" จะสูงมาก จนทำให้ขาดดุลการค้ามากยิ่งขึ้น หากไทยไม่สนับสนุนการผลิตในประเทศ

4. "รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ยึดตลาด" รถยนต์ EV ราคาถูกรุกหนักทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมรถสันดาปถึงกาลอวสานเร็วกว่าที่คิด ทั้งเร่งความต้องการในเรื่องหาสถานที่เพื่อการชาร์จไฟฟ้า

โอกาส : รถยนต์ไฟฟ้าจะ "ราคาถูก" ลงอีก ทุกครอบครัวมีโอกาสได้ครอบครองรถในฝันง่ายกว่าเดิม และช่วยลดมลพิษทางอากาศได้บ้าง แม้ pm2.5 จะมาจาก "รถบรรทุก" เป็นส่วนใหญ่

อุปสรรค : ไทยจะขาดดุลการค้าจีนมหาศาล ขณะที่อุตสาหกรรมรถสันดาปของญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทไทยที่เกี่ยวข้อง อาจต้องเลิกกิจการในไทย หรือปลดคนงาน อีกทั้งรัฐต้องเสียงบประมาณในการขยายสาธารณูปโภครองรับรถพลังงานไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน

5. "วิกฤตประชากร รุนแรง" หลายประเทศเข้าสู่ภาวะประชากรหดตัว อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทย จะลดลงต่ำกว่า 1.0 เด็กเกิดน้อยลง จนน้อยกว่าห้าแสนต่อปี ทำให้จำนวนประชากรเริ่มลด ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุจะมากกว่า 20 เปอร์เซนต์ คน "วัยทำงาน" จำนวนน้อย จะเป็นกลุ่ม "แบกหาม" ของเศรษฐกิจไทย

โอกาส : ครอบครัวที่มีลูกน้อย ดูแลลูกได้ดีขึ้น สามารถเลี้ยงได้อย่างมีคุณภาพสูง

อุปสรรค : ประชากรวัยทำงานลดลง ส่งผลลบทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความสามารถในการแข่งขันของชาติ

6. "โลกแบ่งข้าง ปั่นป่วน เพราะคนไม่กี่คน" จับตา อีลอน มัสก์ โดนัล ทรัมป์ วาลาดิเมียร์ ปูติน สีจิ้นผิง เบนจามิน เนทันยาฮู เหล่าผู้มีอิทธิพลของโลกเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลก "ฟูหรือแฟบ" และอาจทำให้โลกเข้าสู่ยุค "กึ่งสงครามเย็น" ทางด้านการเมืองและด้านความมั่นคง

โอกาส : หากไทยอยู่ข้างถูก ก็ได้ประโยชน์ ถ้าจำได้ ในยุคสงครามเย็น ไทยเราได้ "อาวุธทันสมัย" จากอเมริกา และได้ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT" จากกลุ่มพันธมิตรตะวันตก ได้ของดีมาเต็มๆ เพราะเลือกถูกทาง

อุปสรรค : "ทำตัวเป็นกลาง" ยากขึ้น จะไม่มีใครช่วยเราเต็มที่ เพราะ "เรากั๊กเขา เขาก็กั๊กเรา" ไม่ต่างอะไรจากการ "เลือกผิด" อยู่ดี ดังนั้น การเลือกข้างบ้างในบางเรื่อง แต่ไม่ฝักใฝ่ อาจเป็นทางรอดก็เป็นได้

7. "การศึกษามุ่งเป้า เฉพาะบุคคล" เมื่อเด็กเกิดน้อย จะสูญเสีย "ปริมาณ" พลเมือง ทางออกจึงเหลือเพียง ต้องมีพลเมือง "คุณภาพ" เท่านั้น การศึกษาจึงเป็น "ทางรอดทางเดียว" ขณะที่ "ปฏิรูป" การศึกษาไทย ยังไม่เกิดขึ้นจริง และการเรียนออนไลน์จำนวนมากพร้อมกัน จะถูกแทนที่ด้วย "การเรียนด้วย AI " ที่มุ่งเป้า สอนได้เฉพาะบุคคล

โอกาส : แรงกดดันจากโลกยุค AI จะเป็นแรงส่งให้ไทยนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเร่ง "ปฏิรูป" การเรียนการสอน ตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และ AI อาจจะช่วยในการเรียนการสอนได้ แต่ยังไม่การันตี

อุปสรรค: ทุกชาติ "ตื่นตัว" เรื่องการศึกษา ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ จะเร่งเครื่องสุดกำลัง พร้อมลงทุน "พัฒนาคนรุ่นใหม่" เพื่อการแข่งขันในเศรษฐกิจยุค AI และมักมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าไทย

8. "สิ่งแวดล้อมแย่ลง ภัยพิบัติเพิ่มขึ้น" ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง ดินถล่ม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ฝุ่นพิษ pm2.5 สารพันปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีแนวโน้วดีขึ้น เพราะ "ภาวะโลกปั่นป่วน" ขณะที่ประเทศพัฒนาเตรียมหาหนทางป้องกันและบรรเทา แม้จะสร้างข้อกำหนดเพื่อการลดภาวะโลกร้อน แต่ความร่วมมือมา "ช้าเกินไป"

โอกาส : ความกดดันทาง "การค้าระหว่างประเทศ" กำหนดให้ทุกบริษัทต้องมีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ใครทำได้ตามข้อกำหนดก่อน ย่อมได้เปรียบ ใครมีเทคโนโลยีลดมลพิษ ย่อมมีโอกาสทางธุรกิจ

อุปสรรค : องค์กรหรือประเทศที่ปรับตัวไม่ทัน จะค้าขายได้ยาก ถูกกีดกัน เสียเปรียบ ขณะที่รัฐต้องเตรียม "งบประมาณ" ระยะยาว เพื่อสร้างระบบป้องกัน "ภัยพิบัติ" อย่างจริงจัง ก่อนสายเกินไป 

9. "โลกเทคโนโลยีสุขภาพ มาถึงแล้ว" ความต้องการ "อายุยืน" และ "สุขภาพดี" ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์ ทั้งการใช้ AI เพื่อวินิจฉัยโรคได้ "แม่นยำ" ทั้งการผลิตยา "เฉพาะคน" ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งการรักษาด้วย "การแพทย์อัจฉริยะ" ที่กำลังบูมทั่วโลก

โอกาส: การดูแล ป้องกัน และรักษาผู้ป่วย จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อุปสรรค: จะเกิด "ความเหลื่อมล้ำ" ทางการรักษา เพราะของดีย่อมมีราคาแพงมาก และไทยจะเสียดุลการค้ามหาศาล เพราะเทคโนโลยีการแพทย์จะราคาแพงขึ้นแบบ "ก้าวกระโดด" เพราะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศ ไม่ได้รับการสนับสนุน

"ปี 2025 จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายยิ่งของประเทศไทย มีทั้ง "โอกาส" มากมาย สำหรับผู้ที่ "กล้าเปลี่ยนแปลง" และมีทั้ง "อุปสรรค" รออยู่ พร้อมสู้หรือยัง"