บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) รายงานผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่งสำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ตอกย้ำการเติบโตและปรับตัวในการดำเนินงาน ขณะที่ความต้องการเดินทางยังคงอยู่ในแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 13,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (“EBITDA”) อยู่ที่ 3,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 % กำไรจากการดำเนินงานหลักซึ่งไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40 % ขนส่งผู้โดยสารรวม 5.5 ล้านคน เติบโต 8 % เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 89 %
สำหรับผลประกอบการตลอดปี 2567 AAV มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 49,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 % เทียบกับปีก่อน โดยมี EBITDA อยู่ที่ 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43 % ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานหลักเป็นบวกครั้งเเรกหลังโควิด-19 อยู่ที่ 3,007 ล้านบาท เป็นสัญญาณว่าผลกระทบจากโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงเเล้ว โดยบริษัทกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
โดยจำนวนผู้โดยสารทั้งปีอยู่ที่ 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่อัตราขนส่งผู้โดยสาร 91% สะท้อนความต้องการเดินทางที่ยังสูง โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ ทำให้สัดส่วนผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 63 ต่อ 37 โดยขยายฝูงบินในปีนี้เพิ่ม 4 ลำ รวมเป็น 60 ลำ ณ สิ้นปี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปี 2567 เป็นปีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานพลิกฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับก่อนสถานการณ์โควิดอย่างชัดเจน โดยตลอดปี 2567 ขนส่งผู้โดยสารรวม 20.8 ล้านคน มีฝูงบินแอร์บัส 60 ลำ เทียบกับปี 2562 ที่เคยขนส่งผู้โดยสารสูงสุด 22.1 ล้านคน และฝูงบิน 63 ลำตามลำดับ
“การฟื้นตัวนี้ส่งผลให้ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 49,436 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ที่มีรายได้ 40,181 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากจากการสะดุดของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการบินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”
บริษัทยังคงเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานหลักเป็นบวกเป็นครั้งแรก และเริ่มกลับมามีสุขภาพทางการเงินในการดูแลพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียได้ดีขึ้น
ปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนเเบ่งการตลาดภายในประเทศ ซึ่งเราทำได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 41% ในเดือนตุลาคม และมีส่วนเเบ่งการตลาดตลอดปีอยู่ที่ 40 %
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางที่มากขึ้น ไทยแอร์เอเชียได้เพิ่มความถี่บินและเปิดตัวเปิด 2 เส้นทางใหม่ ดอนเมือง-ลำปาง และสุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ ในขณะที่ตลาดระหว่างประเทศ เน้นการปรับเเผนให้สอดคล้องกับเเต่ละตลาด โดยตลาดจีนในปีที่ผ่านมาแม้ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นอับดับหนึ่ง แต่อัตราการฟื้นตัวค่อนข้างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี การสนับสนุนด้านมาตรการยกเว้นวีซ่าของทั้งรัฐบาลไทยและจีนทำให้เห็นแนวโน้มคนไทยไปเที่ยวประเทศจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนภูมิภาคที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย ที่ขยายตัวได้ดีหลังการปลดล็อกเรื่องโควต้าที่นั่งในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเราเป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินเชื่อมไทยกับอินเดียมากที่สุด ส่วนตลาดอาเซียนยังคงมีศักยภาพที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่ไทยแอร์เอเชียครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในเที่ยวบินระหว่างไทย-เวียดนาม นายสันติสุขกล่าว
ทั้งนี้ตลอดปีที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างจุดเเข็งที่โดดเด่น ผ่านคุณภาพบริการมาตรฐานระดับโลก โดยนอกจากกลุ่มแอร์เอเชียจะได้รับจัดอันดับให้เป็นสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลกจากสกายเเทรกซ์ 15 สมัยซ้อน
ไทยแอร์เอเชียยังเป็นสายการบินที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยติดอันดับโลกด้วยคะเเนน 7 เต็ม 7 จาก AirlineRatings.com และยังสามารถรักษาเเชมป์สถิติความตรงต่อเวลาสูงสุดในไทย และติด 5 อันดับเเรกของสายการบินในเอเชียเเปซิฟิกที่ตรงต่อเวลาที่สุดจากรายงานของ Cirium
ในปี 2567 ด้านการพัฒนาความยั่งยืน AAV ยังประสบความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) อย่างเห็นได้ชัด โดยในปีที่แล้ว บริษัทได้รับคะแนน 83 คะแนน จาก SET ESG Ratings ซึ่งเทียบเท่ากับบริษัทที่ได้รับการประเมินระดับ AA และเป็นคะแนนที่สูงที่สุดในกลุ่มสายการบินในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จากการขาดทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทยังไม่สามารถกลับเข้าการจัดอันดับเนื่องจากยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินด้านความสามารถในการทำกำไร แต่ด้วยผลประกอบการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องบริษัทคาดหวังว่าปีหน้าจะสามารถผ่านเกณฑ์และได้รับการจัดอันดับ SET ESG Ratings ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนจาก FTSE Russell ESG ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับ FTSE Russell เป็นปีแรก โดยได้รับคะแนน 3.7 จากคะแนนเต็ม 5
ทั้งนี้ในแง่การปฏิบัติงานด้านความยั่งยืน บริษัทได้มุ่งเน้นกระบวนการบินที่ประหยัดน้ำมัน ควบคู่ไปกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ประโยชน์จากเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A321neo ให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งในด้านการปฏิบัติการบินและด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
AAV ยังคงเดินหน้าพัฒนาความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการบินที่ประหยัดเชื้อเพลิงควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องบินแอร์บัส A321neo ลำใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ในด้านการสนับสนุน บริษัทฯ ร่วมเป็นผู้นำการจัดงาน “Thai Aviation Sustainability Day 2024” ร่วมกับสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทยและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการหารือและความร่วมมือในกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมการบิน
ก้าวต่อไปในปี 2568 แม้จะยังคงมีความท้าทาย แต่บริษัทจะมุ่งใช้ความได้เปรียบด้านการให้บริการและจำนวนเครื่องบินที่มากที่สุดในกลุ่มสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยในการเติบโตอย่างต่อเนื่องเเละรวดเร็วมากขึ้น โดยตั้งเป้าเติบโตรายได้จากการขายและบริการใกล้เคียง 15 % จากปีก่อน เพิ่มเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 6 ลำ เป็น 66 ลำในปีนี้
ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำ บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะขยายส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศให้มากกว่า 40 % อย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนด้วยการขยายเครือข่ายจากฐานที่มั่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียได้เปิด 2 เส้นทางใหม่ สุวรรณภูมิ-อุดรธานี เเละสุวรรณภูมิ-ขอนเเก่น รวมเป็น 6 เส้นทางในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีแผนขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเติมตลอดทั้งปีนี้ รวมถึงการใช้กลยุทธ์สิทธิเสรีภาพที่ 5 โดยตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสาร 23-24 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่สูงสุดของบริษัทต่อไป