กางแผน"การบินไทย" เทคออฟ ร่วมทุน MRO อู่ตะเภาหมื่นล้าน จัดหาฝูงบิน 150 ลำ

26 ก.พ. 2568 | 03:30 น.

การบินไทยเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูไตรมาส 2 ปี 2568 หลังปรับโครงสร้างทุนสำเร็จ พร้อมผนึกบางกอกแอร์- UTA ร่วมลงทุน MRO ที่อู่ตะเภามูลค่า 10,000 ล้านบาท ขยายฝูงบินรุกธุรกิจใหม่ ดันส่วนทุนเป็นบวก 3-4 หมื่นล้านบาท มั่นใจกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มิถุนายนปีนี้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 หลังดำเนินการตามเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งการจ่ายหนี้โดยไม่มีการผิดนัดชำระ การปรับโครงสร้างทุน ทำให้ส่วนทุนเป็นบวก 3-4 หมื่นล้านบาท การทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

ล่าสุดเหลือเพียงเงื่อนไขสุดท้าย คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ใหม่ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ซึ่งในวันที่ 25 ก.พ.2568 คณะผู้บริหารแผนการบินไทยได้ประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ ก่อนนำเสนอในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้

ทั้งนี้หลังการปรับโครงสร้างทุน ทั้งการแปลงหนี้เป็นทุนและการออกหุ้นใหม่ มูลค่า 76,000 ล้านบาทเสร็จสิ้นในช่วงที่ผ่าน ไม่เพียงทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวก ยังทำให้ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ นำการบินไทยกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ทิศทางของการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

เปิดแผนธุรกิจการบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การบินไทยจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังผู้ถือหุ้นอนุมัติรายชื่อบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ จากนั้นก็คาดว่าศาลฯ จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน

การบินไทยก็น่าจะออกจากแผนฟื้นฟู ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็ขึ้นกับการพิจารณาของศาล หากศาลสั่งให้ออกจากแผน การบินไทยก็จะนำบริษัทกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในมิถุนายน 2568 นี้

สำหรับแผนธุรกิจการบินไทยในปีนี้การบินไทยจะมีเครื่องบินรวม 85 ลำ เพิ่มขึ้นจาก 79 ลำในปี 2567 และจะปลดประจำการเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER พร้อมเดินหน้าขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 103 ลำในปี 2569 เพิ่มเป็น 116 ลำในปี 2570 โดยมีเป้าหมายระยะยาวที่ 150 ลำในปี 2576 ซึ่งการบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการจัดหาเครื่องบิน ทั้งการเช่าและเช่าซื้อ

“ตามแผนการบินไทยได้จัดหาเครื่องบินแอร์บัส A321 จำนวน 32 ลำ และโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ ซึ่งเบื้องต้นได้จ่ายมัดจำไปแล้ว และทยอยรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321 เข้ามาในปลายปีนี้เป็นต้นไป ส่วนเครื่องบินลำตัวกว้างโบอิ้ง 787-9 ล็อตแรกจำนวน 45 ลำ ระยะเวลารับมอบ 9 ปี นับจากปี 2567 โดยจะทยอยรับมอบตั้งแต่กลางปี 2570 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีอยู่ในแผนจัดหาอีกจำนวน 35 ลำ ซึ่งจะพิจารณาจัดหาให้สอดรับกับสถานการณ์ของตลาด”

นายชาย กล่าวว่า การมีเครื่องบินเพิ่มขึ้น จะทำให้การบินไทยสามารถขยายเครือข่ายเส้นทางบินได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศที่การบินไทยจะให้ความสำคัญในการขายตั๋วแบบเน็ตเวิร์คเพิ่มมากขึ้น จากในอดีตที่จะขายแบบพ้อยท์ทูพ้อยท์หรือจุดต่อจุด และที่สำคัญคือทำให้การบินไทยจะขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯเป็นฮับทางการบินได้ จากการขยายเน็ตเวิร์คเส้นทางบินต่างๆได้เพิ่มขึ้น ขยายส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้การบินไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้การบินไทยเดินหน้าสู่สายการบินชั้นนำระดับโลก

ชาย เอี่ยมศิริ

จับมือบางกอกแอร์เวยส์-UTA ร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา 1 หมื่นล้าน

นอกจากการสร้างรายได้จากธุรกิจการบินแล้ว ในปีนี้การบินไทยจะให้ความสำคัญในการลงทุนและสร้างรายได้จากหน่วยธุรกิจ หรือ บิสิเนส ยูนิต ให้เพิ่มขึ้น ไฮไลท์การลงทุนใหญ่ในปีนี้ คือ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งการบินไทย จะลงนาม MOU ร่วมลงทุนกับบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ภายในเดือนนี้ เพื่อเสนอตัวเข้าลงทุนในโครงการนี้

ทั้งยังสอดรับกับความต้องการของอีอีซี ที่ต้องการให้ศูนย์ซ่อมแห่งนี้เป็นการลงทุนของคนไทยเป็นหลัก และมีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ ก็ดำเนินศูนย์ซ่อมอยู่แล้วในปัจจุบัน

หากเปิดศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ก็จะมีลูกค้าทันที เพื่อมารองรับการขยายฝูงบินของการบินไทยและการซ่อมบำรุงเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์ส ทั้งยังสามารถรองรับการซ่อมบำรุงของสายการบินต่างๆได้ โดยไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศ

การลงทุน MRO สนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 220 ไร่ จะใช้งบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกใช้งบลงทุนประมาณ 70% คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 เริ่มต้นด้วย 3 โรงซ่อมอากาศยาน 1โรงซ่อม สามารถจอดซ่อมเครื่องบินได้ 3 ลำพร้อมกัน และยังมีโรงซ่อมทำสีเครื่องบินอีก 1โรงซ่อม

ศูนย์ซ่อมแห่งนี้จะมีศักยภาพในการซ่อมเครื่องบินได้ทุกประเภท ทั้งเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide Body) และเครื่องบินลำตัวแสบ (Narrow Body) ส่วนเฟส 2 ก็จะสร้างเพิ่มอีก 1 โรงซ่อม ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2571 สร้างรายได้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

จ่อยื่นประมูลขยายธุรกิจคลังสินค้า

ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีแผนขยายธุรกิจคลังสินค้า (Cargo) โดยจะร่วมกับพันธมิตรในประเทศยื่นประมูลคลังสินค้าแห่งที่ 3 ในสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ติดกับคลังสินค้าปัจจุบันของการบินไทย การลงทุนอยู่ในระดับหลักพันล้านบาท

พร้อมจัดตั้งโรงเรียนการบิน ซึ่งจะเป็นการขยายการดำเนินธุรกิจของบริษัท TFT (Thai Flight Training)ที่ปัจจุบันอบรมนักบินและลูกเรือ เพื่อทำเป็นโรงเรียนการบิน ขยายไปผลิตบุคลากรด้านช่างและวิศวกร กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดการบิน โดยใช้งบลงทุนประมาณหลักร้อยล้านบาท

นายชาย กล่าวต่อว่าสำหรับผลประกอบการปี 2567 การบินไทยยังคงมีกำไรจากการดำเนินการที่ดี margin เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ในส่วนของผลประกอบการโดยรวมของบริษัท ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทุน จากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งภาคสมัครใจ และบังคับตามคำสั่งศาล ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ราคาหุ้นที่แท้จริง ซึ่งเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด(PP) อยู่ที่ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น จากราคาหุ้นที่ต่างกันใน 2 ราคานี้ ส่วนต่างนี้ต้องลงตามมาตรฐานบัญชี จึงกระทบต่อผลประกอบการของการบินไทยในปี 2567 แต่เป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (ONE TIME) และจะไม่กระทบต่อการออกจากแผนฟื้นฟูของการบินไทย

เนื่องจากการบินไทย มีความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งมีกำไรจากการดำเนินการต่อเนื่องติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว

“ปีที่แล้วการบินไทยเป็นสายการบินที่มีกำไร EBIT MARGIN (กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี) มีการเติบโตสูงที่สุดในโลก ปีนี้ก็คาดว่ายังคงมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่เช่นกัน ซึ่งการบินไทยวันนี้มี EBITDA เติบโตแข็งแกร่ง และส่วนของผู้ถือหุ้นยังเป็นบวก ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ” นายชายกล่าว

การบินไทย

โบรกฯ ห่วงรัฐแทรกแซงซื้อเครื่องบิน 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่าการเดินหน้าออกจากแผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในเวลานี้น่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่เกินกลางปี 68 โดยการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในครั้งนี้มองว่า THAI จะมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับขนาดฝูงบิน ลดเส้นทางการบินที่ไม่สร้างรายได้

รวมถึงการหลุดพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจสู่บริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินไทยก็พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถพลิกทำกำไรได้

ทั้งนี้ อาจต้องมีการประเมินรายละเอียดเชิงลึกถึงฐานะทางการเงินของการบินไทย โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราส่วนทางการเงิน และสภาพคล่อง ที่ยังไม่เห็นการเปิดเผยตัวเลขนี้ออกมาว่าที่ผ่านมาหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วอัตราส่วนดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งค่อนข้างมีความสำคัญต่อการคาดการณ์ทิศทางในอนาคตต่อไป

“การกลับมาซื้อขายของหุ้น THAI ในครั้งนี้ เชื่อว่าโอกาสที่จะเห็นการขาดทุนหนักๆ จากค่าใช้จ่ายที่ผิดปกติในงบนั้นจะเป็นไปได้น้อยแล้ว แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมมองว่ายังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของการแทรกแซงของภาครัฐ ต่อเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินลำใหม่ หรือเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ไม่สร้างรายได้และกำไร”

ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในปี 68 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ตามความต้องการเดินทางที่ขยายตัว เพียงแต่ว่าอัตราการขยายตัวในปีนี้อาจไม่สูงมากนัก เนื่องจากหมดช่วงเวลาของการท่องเที่ยวในลักษณะล้างแค้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย และการกลับมาเปิดประเทศ

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังดูมีความไม่แน่นอนสูง อัตราการเติบโตอาจไม่ได้ดีตามที่ตลาดคาดหวัง การค้าโลกยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่กระทบด้านภาษีการนำเข้าและส่งออก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและการลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเริ่มระมัดระวังมากขึ้น

“เดิมทีหลังจากเปิดประเทศการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น คนยอมจ่ายค่าตั๋วเดินทางแม้มีราคาที่สูง เพราะเที่ยวบิน-เส้นทางบินมีอย่างจำกัด แรงอัดอั้นการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศผลักดัน แม้ในตอนนี้ดีมานด์ท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีอยู่ แต่คนเริ่มประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีการเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วและความคุ้มค่า การขยายฝูงบิน และเส้นทางการบินมีมากขึ้น ทำให้วัฏจักรการแข่งขันราคาตั๋วโดยสารกลับมาอีกครั้งในอีก 1-2 ปีจากนี้”

อย่างไรก็ดี มองว่าปัจจัยเชิงบวกเดียวที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยหนุนธุรกิจการบินหลังจากนี้ได้ คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ในปี 68 นี้มีแนวโน้มที่จะทรงตัวหรือลดลงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและการขุดเจาะน้ำมัน ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลดราคาพลังงานในสหรัฐฯ ลง โอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นนั้นค่อนข้างมีจำกัด