จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2567 โดย World Competitiveness Center ของInternational Institute for Management Development หรือ IMD ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 5 อันดับ จากปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 30
ในการจัดอันดับได้พิจารณาจากภาพรวมใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2.ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้เฉพาะในภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยสิงคโปร์ ครองอันดับ 1 ของโลก และของอาเซียนทางด้านความสามารถในการแข่งขัน ไทย อันดับที่ 25 อินโดนีเซีย อันดับที่ 27 มาเลเซีย อันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 52 ตามลำดับ ซึ่งทุกฝ่ายหวังในปีต่อ ๆ ไป ไทยจะมีการปรับปรุงในทุก ๆ ด้านเพื่อให้อันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นเรื่อย ๆ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเทศไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีพอสมควรในปัจจุบัน ซึ่งไทยควรประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกเห็นถึงจุดแข็งและศักยภาพของไทยให้มากขึ้น เช่น ไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธรณูปโภคที่ดีและมีความเสถียร มีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์ อาหาร การท่องเที่ยว การแพทย์
รวมถึงไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมอเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ PCB (Printed Circuit Board) เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและแนวโน้มการลงทุนที่ตรงกับความต้องการการพัฒนาของไทย
ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีการเห็นชอบร่างกฎหมาย Ease of Doing Business เพื่อปลดล็อกให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น
นอกจากนี้สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยยังสะท้อนความเชื่อมั่น และทิศทางศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของไทยได้เป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่าช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน
โดยมีจำนวนมากถึง 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าเงินลงทุนมีมากถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 42 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในภูมิภาคนี้ และการขอรับการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก อันดับที่ 1 คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับ 2 กลุ่มดิจิทัล อันดับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อันดับ 4 กลุ่มเกษตรและแปรรูปอาหาร และอันดับ 5 กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุดมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวมกว่า 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ประเทศที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญของการวางรากฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างใน 6 ด้านที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เคยเสนอ ได้แก่
1.Competitiveness ควรเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 2.Ease of Doing Business ควรปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดระบบราชการที่ซับซ้อน
3.Digital Transformation การพัฒนาทักษะเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ภาครัฐควรลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานไทยมีความสามารถในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมนวัตกรรม และการลงทุนใน R&D
4.Human Development ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ 5. SMEs การสนับสนุนทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งทุน การเพิ่มทักษะและนวัตกรรมสำหรับ SMEs และ 6. Sustainability การส่งเสริมความยั่งยืนเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวและเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
นอกจากนี้ต้องต่อยอดโอกาสและจุดเด่นของไทย ในการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมสร้างอุตสาหกรรมการผลิตที่ไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และการท่องเที่ยว โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมขยายตลาดส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ยังไม่เคยเจาะตลาด และตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในภูมิภาคอาเซียน เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง