นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ "ค่าเงินบาท"ส่อแววแข็งต่อ ขีดแข่งขันการค้าลด

25 ก.ย. 2567 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2567 | 06:04 น.

เงินบาททุบสถิติใหม่! แข็งค่าสุดในรอบ 30 เดือน แตะระดับ 32.56 บาท/ดอลลาร์ หวั่นฉุดความสามารถแข่งขันทางการค้า กูรูชี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์-วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง 2 ยักษ์ใหญ่ สหรัฐฯ-จีน หั่นดอกเบี้ยต่อ ดันเงินบาทเป็น Safe Haven แข็งค่าต่อได้อีก

จากสถานการณ์เงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดช่วงเช้าวันนี้ 25 ก.ย.2567 แข็งค่าสุดในรอบ 30 เดือน ที่ระดับ 32.563 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.62-32.64 บาท/ดอลลาร์ 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ย้อนหลัง ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยการคำนวณโดยเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย 25 สกุล และนำมาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการค้าระหว่างกัน

โดยพบว่า ดัชนีค่าเงินบาทในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 121.51 สูงสุดในรอบ 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง นับตั้งเดือนมกราคม 2567 ที่ดัชนีค่าเงินบาทอยู่ที่ 121.91 หมายความว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศคคู่ค้าและคู่แข่งของไทย สะท้อนว่าไทยกำลังเสียเปรียบในด้านราคาโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า จากการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นผลมาจากการเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง 2 ตลาดหลัก อย่าง ประเทศสหรัฐฯ และจีน ลดลงมาในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

ส่งผลให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่แล้วยิ่งแข็งค่าขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จนกระทั่งในวันนี้ 25 ก.ย. 67 เงินบาทหลุดมาอยู่ที่ระดับกว่า 32.60-32.65 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งทะลุแนวต้านที่ทางฝ่ายคาดการณ์ไระดับเหมาะสมไว้ที่ระดับที่ 33.00 บาท/ดอลลาร์ ไปแล้ว ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued ส่วนกรอบค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วงระดับเท่าไหร่ในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น ทางฝ่ายมองว่าประเมินค่อนข้างยาก เพราะต้องดูปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นร่วมด้วย

โดยในช่วงไตรมาส 4/2567 ทางฝ่ายคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะยังคงอยู่ในโซนแข็งค่าได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกอย่างน้อย 1-2 ครั้ง และคาดว่าในปี 2568 จะยังคงลดระดับอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 1%

นอกจากนี้ ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ปัญหาสงครามที่มีความยืดเยื้อ รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังเป็นอีกแรงส่งกระทบค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น เพราะถูกมองว่าเป็น "Safe Haven" หรือ ที่หลบภัย

อีกทั้ง เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่

ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้นั้น เงินบาทก็อาจทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ อย่างไรก็ดี หากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุนนั้น ทางฝ่ายมองว่ากลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งทางตรงและทางอ้อมยังมีความน่าสนใจ อาทิ SCC PTTEP GPSC และ CPALL